ประเดิมส่งออก ม.ค. ยังขยายตัวต่อเนื่องแม้มีสัญญาณชะลอตัวระยะสั้นจากผลของโอมิครอน สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ส่งผลแต่ยังคงต้องจับตา

145

KEY SUMMARY

ประเดิมมูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2022 ขยายตัว

การส่งออกในเดือนแรกของปี 2022 ขยายตัว 8% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 24.7% อยู่มาก ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของการส่งออกของหลายประเทศสำคัญทั่วโลกในเดือนมกราคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ขณะที่อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้เร่งตัวไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะต่อไปไปยังมีแนวโน้มที่ดี จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก แม้มีปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียูเครนที่อาจชะลอการขยายตัวของการค้าโลก

 

ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022

ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022 จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกในช่วงหลัง  ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ยังผันผวน
และอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัญหาทางด้านอุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก

 

ส่งออกยังเติบโตได้ แต่ต้องจับตาผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน

EIC อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2022 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบของการระบาดโอมิครอน
ที่รุนแรงน้อยกว่าคาด และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมใน
 RCEP ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบกับการส่งออก รวมถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรม เกษตร และปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะในด้านต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทย

 

KEY POINTS

มูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2022 ขยายตัว 8%YOY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.2% ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 20.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 33.4% ทำให้ดุลการค้าในเดือนแรกของปี 2022 ขาดดุลที่ 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกและนำเข้ารายสินค้าในเดือนมกราคมเนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากร ซึ่งดำเนินการในทุก ๆ ปี ซึ่งในครั้งนี้จะดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2022 สำหรับการส่งออกสินค้ารายตลาดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกไปอินเดีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ขยายตัวได้มากที่สุดเป็น 5 ลำดับแรก

 

IMPLICATIONS

การส่งออกในเดือนแรกของปี 2022 ขยายตัว 8% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.7% โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนธันวาคม (ปรับผลของฤดูกาลการส่งออกจะหดตัวมากถึง -15.2% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก (รูปที่ 1 ซ้าย) รวมถึงกิจกรรมในภาคการผลิตที่ชะลอลง
ในเดือนมกราคม ซึ่งสะท้อนจากดัชนี 
Global Manufacturing PMI – export orders ที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 50
เป็นครั้งแรกในรอบ 
17 เดือน และดัชนี Manufacturing PMI ที่ลดลงทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา (รูปที่ ขวา) ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะถัดไปยังมีแนวโน้มที่ดี สะท้อนจากตัวเลขล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนี Global Manufacturing PMI – export orders กลับมายืนเหนือระดับ 50 ได้อีกครั้ง และมูลค่าการส่งออกของเวียดนามและเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมแบบปรับฤดูกาล

รูปที่ 1 : การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2022 ขยายตัวในอัตราชะลอลง สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกและดัชนี Manufacturing PMI ที่ปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม

ที่มา การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ IHS Markit และ CEIC

ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2022 จากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกในช่วงหลัง  ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้าส่งออก (รูปที่ 2) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ยังผันผวนและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัญหาทางด้านอุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัว
ของอุปสงค์โลก

 รูปที่ 2 : เปรียบเทียบการนำเข้าและส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา

ที่มา การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และ CEIC

EIC อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2022 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จาก (1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วงก่อนหน้าจากผลกระทบของโอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าประมาณการเดิม (2) มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก และ (2) ในระยะต่อไป จะยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022
ที่ผ่านมา

ผลกระทบจากการส่งออกโดยตรงไปตลาดรัสเซียและยูเครนต่อการส่งออกรวมของไทยจะมีจำกัด แต่จำเป็นต้องจับตาผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซียยูเครน แม้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยตรงมากนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.43% ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยได้ในหลายช่องทาง ได้แก่ (1) สงครามและมาตรการคว่ำบาตรอาจทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งรวมสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และกลุ่มสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) คิดเป็น 9.9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย (2) รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ รวมถึงสินค้าด้านการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ปุ๋ย ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันทานตะวัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้เพื่อการผลิตอุตสาหกรรม การเกษตร และปศุสัตว์ ในราคาที่แพงขึ้น และอาจทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลง (3) รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตแร่พาลาเดียมและก๊าซนีออนหลักของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จึงอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยืดเยื้อกว่าที่คาด ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ของไทย (4) อัตราค่าระวางเรืออาจอยู่ในระดับที่สูงยาวกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกอาจเป็นโอกาสให้สินค้าของไทยบางประเภทสามารถไปตีตลาดแทนที่การส่งออกสินค้าของรัสเซียและยูเครนได้เช่นกัน เช่น มันสำปะหลัง (เพื่อทดแทนข้าวโพด) และอาหารสำเร็จรูปบางกลุ่ม เป็นต้น

ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว EIC จะทำการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2022 ใหม่ และเผยแพร่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

รูปที่ 3 : การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครน

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8115

 

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดรปุณยวัจน์ ศรีสิงห์นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

วิชาญ กุลาตีนักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp