สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 6 – 10 มิ.ย. 65 และแนวโน้ม 13 – 17 มิ.ย. 65

268

ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น โดยตลาดวิตกต่ออุปทานในตลาดโลกมีแนวโน้มตึงตัว หลังอุปสงค์น้ำมันจากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับโอกาสที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันลดลง หลังจากแสดงท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ อาทิ ประกาศจะรื้ออุปกรณ์ตรวจสอบการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมทั้งหมด ซึ่งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) มาติดตั้ง รวมถึงกล้องวงจรปิด จำนวน 27 ตัว และเริ่มติดตั้งเครื่องเสริมสมรรถนะยูเรเนียมจากการหมุนเหวี่ยง (Centrifuge) ซึ่งก้าวหน้ากว่าเดิม ในกลุ่มเครือข่าย (Cluster) โรงงานใต้ดิน และมีแผนจะติดตั้งระบบกล่าวเพิ่มอีก

จับตาประเทศจีน ซึ่งกลับมาประกาศใช้มาตรการ Lockdown บางส่วนในเมือง Shanghai อีกทั้งความไม่สงบในลิเบีย หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงปิดแหล่งผลิตน้ำมัน Sarir (200,000 บาร์เรลต่อวัน) รวมถึงท่าส่งออก Ras Lanuf (200,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Es Sider (350,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 65 และมีแผนจะปิดล้อมท่า Hariga (140,000 บาร์เรลต่อวัน) เพิ่มเติม หากยืดเยื้อจะทำให้ลิเบียผลิตและส่งออกน้ำมันลดลง ทั้งนี้ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 780,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • EIA รายงานโรงกลั่นสหรัฐฯ นำน้ำมันดิบเข้ากลั่น ในสัปดาห์สิ้นสุด 3 มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 354,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 16.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ม.ค. 2563 และอัตราการใช้กำลังการกลั่น (Utilization) เพิ่มขึ้น 1.6% อยู่ที่ 94.2% สูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 2562 ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ลดลง 7.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 519.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่ มี.ค. 2530
  • Board of Governors ของ IAEA ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 35 ชาติ ลงมติตำหนิอิหร่านตามร่างที่เสนอโดยสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี เนื่องจากอิหร่านไม่ให้ความร่วมมือในการอธิบายร่องรอยยูเรเนียมที่ตรวจพบใน 3 พื้นที่
  • รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นาย Suhail al-Mazrouei เห็นว่าความพยายามของกลุ่ม OPEC+ ในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ดีนัก” โดยจากรายงานเดือน พ.ค. 65 ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (Platts รายงานเป้าหมายการผลิตเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 39.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Reuters รายงานรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาอนุญาตให้บริษัท Eni ของอิตาลี และบริษัท Repsol ของสเปน สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา ในลักษณะ Oil-for-loan ในเดือน ก.ค. 65 เพื่อชดเชยอุปทานจากรัสเซียที่หายไปเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 720,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลก ในปี 2565 อยู่ที่ +2.9% จากปีก่อน ลดลง 1.2% จากคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 65 โดยเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่สภาวะ Stagflation ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัวขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp