สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 25 – 29 ก.ค. 65 และแนวโน้ม 1 – 5 ส.ค. 65

228

 

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน โดย ICE Brent และ NYMEX WTI ลดลง ขณะที่ Dubai เพิ่มขึ้น ตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันเป็นอันดับสองของโลก มีแนวโน้มถดถอย โดยสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ก.ค. 65 ลดลง 1.2 จุด จากเดือนก่อน อยู่ที่ 49 จุด ทั้งนี้ PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากปัจจัยเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ทำให้นักลงทุนกลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ โดยดัชนีดอลลาร์ (DXY Index) ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลกปิดตลาดวันที่ 29 ก.ค. 65 ลดลง 0.59% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 105.90 จุด
จับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 3 ส.ค. 65 โดยตลาดคาดว่า OPEC+ จะคงโควตาการผลิตในเดือน ก.ย. 65 ไว้ที่ระดับ 42.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสมาชิกบางประเทศไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ แม้สหรัฐฯ เรียกร้องให้เพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 27 ก.ค. 65 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% มาอยู่ในช่วง 2.25%-2.5%
• รายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2565 จากปีก่อนอยู่ที่ +3.2% ลดลงจากคาดการณ์ในเดือน เม.ย. 65 ที่ +3.6% จากปีก่อน
• สหรัฐฯ ประกาศขายน้ำมันจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 20 ล้านบาร์เรล ตามแผนการระบาย SPR ปริมาณรวม 180 ล้านบาร์เรล ภายใน 6 เดือน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการขาย 125 ล้านบาร์เรล และส่งมอบให้ผู้ซื้อแล้วเกือบ 70 ล้านบาร์เรล
• Rosstat Statistics Office ของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในเดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 49,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• Interfax รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ 37.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตาใหม่ ซึ่งผ่อนคลายมาอยู่ที่ระดับ 42.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ทำให้อัตราความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางเดิม คือลดการผลิต (Compliance Rate) สูงถึง 320%
• กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น (Ministry of Finance) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้น 22.1% จากปีก่อน อยู่ที่ 2.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน อยู่ที่ 5.8 ล้านตัน และนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 17.7% จากปีก่อน อยู่ที่ 8.76 ล้านตัน

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp