“ตีตั๋วสินค้าเกษตรไทย ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว”

136

Key Highlights

  • รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังจีน เนื่องจาก 1) ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง 2) เป็นอีกช่องทางช่วยรองรับการส่งออกสินค้าไปจีนที่มีแนวโน้มเติบโตและช่วยแก้ปัญหาคอขวดการขนส่งที่ติดขัดทางบก 3) ช่วยให้ SMEs เกษตรและอาหารไทยขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ของจีนได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น 4) โอกาสในการขยายฐานตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงด้วยรถไฟ
  • สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่จะได้ประโยชน์เป็นกลุ่มแรกๆ ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยคาดว่าในระยะแรก (ปี 2022-2025) รถไฟความเร็วสูงฯ จะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มให้กับไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 4,329 ล้านบาทต่อปี และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
  • อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการขยายตลาดนี้เพิ่มเติม อาทิ ความคุ้มค่าในการปรับเปลี่ยนการขนส่งมาเป็นทางราง และการเชื่อมต่อการขนส่งจากทางรางสู่ผู้บริโภคใน สปป.ลาว รวมทั้งอุปสรรคด้านกฎระเบียบและข้อบังคับระหว่างประเทศต่าง ๆ

กฤชนนท์ จินดาวงศ์

ปราโมทย์ วัฒนานุสาร

อังคณา สิทธิการ

Krungthai COMPASS

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ นับเป็นหนึ่งในเส้นทางการขนส่งที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศของอาเซียนด้วยระบบโลจิสติกส์แบบผสมผสาน (Multi-Modal Transportation) ได้มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก ในแง่มุมของการลงทุน การท่องเที่ยว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางรถไฟสายนี้ ทั้งนี้ หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือ สินค้าเกษตรและอาหาร จึงมีคำถามที่น่าสนใจคือ รถไฟความเร็วสูงจะสร้างโอกาสและความท้าทายอะไรให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยบ้าง รวมถึงผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น อยากให้ผู้อ่านทราบก่อนว่าที่ผ่านมา สถานการณ์การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของจีนเป็นอย่างไร

ตลาดจีนมีความสำคัญกับสินค้าเกษตรและอาหารไทยแค่ไหน?

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดจีนเป็นหลัก  โดยในปี 2021 มีมูลค่ารวมเท่ากับ 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมดของไทย โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (สัดส่วนปี 2012 มีสัดส่วน 15.6%) สาเหตุหลักมาจากไทยได้รับอานิสงค์จากการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งสินค้าของไทยยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าผลไม้ อาทิ ทุเรียน ลำไย และมังคุด โดยสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่งออกทางเรือมากกว่า 80% ของการส่งออกส่วนที่เหลือเป็นการขนส่งทางถนน

รถไฟความเร็วสูงจะสร้างโอกาสอะไรให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยบ้าง

  1. ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เดินทางจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึง จ.หนองคาย จะใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นไม่เกิน 15 ชั่วโมง และมีต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยถูกกว่าการขนส่งทางถนนประมาณ 2 เท่า โดยอัตราค่าขนส่งสินค้าทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเวียงจันทน์ถึงคุนหมิง ราคาต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต 1 ตู้ อยู่ที่ 15,921.2 หยวน หรือคิดเป็นเงินบาทที่ประมาณ 3,243 บาท/ตัน ทำให้การส่งออกโดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังสามารถกระจายความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงการจราจรที่แออัดจากเส้นทางขนส่งทางถนน ส่งผลให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการขนส่งและสูญเสีย ซึ่งอาจช่วยให้มีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพิ่มมากขึ้น

  1. รองรับความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนที่เติบโต

            ในปี 2021 จีนนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นมูลค่า 198.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 12.3% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีน และหากดูจากรูปที่ 3 จะเห็นว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 9.4% ต่อปี (CAGR 2010-2021) ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ในอนาคตหากจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนที่น่าสนใจ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาคอขวดการขนส่งที่ติดขัดทางบกได้

  1. 3. ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ของไทยในช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ของจีน

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในแพลตฟอร์ม CBEC (Cross-Border e-Commerce) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทาง CBEC (Cross-Border e-Commerce) โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) พบว่าในปี 2021 ผู้บริโภคชาวจีนที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้ามีจำนวนทั้งสิ้น 812.1 ล้านคน จากเดิมในปี 2020 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 782.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 3.8%YoY โดยสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กลุ่มอาหาร ดังนั้น รถไฟจีน-สปป.ลาวจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบไทย โดยเฉพาะรายกลางและย่อย ให้สามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารไปยังกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภควัย Gen Z และ Gen Y (คิดเป็น 54.8%ของผู้ใช้ทั้งหมด) ที่ต้องการความรวดเร็วในการบริโภคสินค้า

  1. 4. ขยายฐานตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศอื่นๆที่เชื่อมโยงด้วยรถไฟ

            นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน นับว่าเป็นเมืองด้านคมนาคมที่สำคัญของประเทศจีน โดยเป็นศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟหลายสาย เช่น เส้นทางคุนหมิงไปรัสเซียตะวันตก โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ (รูปที่ 5) ซึ่งไทยสามารถอาศัยช่องทาง
การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนเพื่อไปยังปลายทางประเทศอื่นๆได้สะดวกขึ้นและประหยัดต้นทุน นอกจากนั้น จากข้อมูลของ Organization for Economic Co-operation and Development  ระบุว่ากลุ่มประเทศในแถบยุโรปมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยที่ปีละ 3.4% ในปี 2021-2030 (CAGR%) ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะขยายตลาดไปยังประเทศเหล่านี้ได้

สินค้ากลุ่มไหนที่ตีตั๋วได้ก่อน?

            Krungthai COMPASS มองว่า ในเบื้องต้นสินค้าเกษตรกลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะสามารถขยายตลาดจีนผ่านการขนส่งทางราง ประกอบกับมีอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออก และอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดการส่งออกไปยังตลาดจีนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย

จากการวิเคราะห์การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปจีน 10 อันดับแรก พบว่า สินค้ากลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 19.9% และ 19.7% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 13.5% อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดส่งออกจากไทยไปจีนอยู่ที่ 16.5% และ 65.7% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 7.7% ด้วย

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ยังเป็นสินค้าที่มี Shelf Life สั้น เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรในกลุ่มอื่นๆ โดยไก่สดแช่เย็นและกุ้งสดแช่เย็น มีอายุการเก็บรักษาต่ำสุดเพียง 3-5 วัน รองลงมา คือ ผลไม้สดแช่เย็น มีอายุการเก็บรักษาที่ 7-20 วัน ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางสปป.ลาว-จีน ที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งค่อนข้างเร็ว ที่ประมาณไม่เกิน 15 ชั่วโมง รวมทั้งยังเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มอาหารซึ่งเป็นที่นิยมในการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ของจีน ดังนั้น ปัจจัยด้านอายุการเก็บรักษา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ส่งออกอาจใช้ในการพิจารณาเลือกสินค้าในการส่งออกผ่านทางรถไฟความเร็วสูงได้

ไทยจะสามารถแสวงหาโอกาสจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารผ่านรถไฟความเร็วสูงได้แค่ไหน

            Krungthai COMPASS ประเมินว่า รถไฟความเร็วสูงจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือ 4,329 ล้านบาท ในระยะแรก (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.3 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) โดยมีสมมติฐานในการประเมินดังนี้

  1. สินค้าที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการส่งออกทางราง โดยพิจารณาจาก 1) สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยส่งออกไปจีน 10 อันดับแรก 2) มีอัตราการเติบโตของการส่งออกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3) เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4) เป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้นเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารประเภทอื่น ซึ่งได้แก่ กลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ตามที่อธิบายไปก่อนหน้า
  2. ประเมินโอกาสที่จะส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ เพิ่มเติมผ่านช่องทางรถไฟความเร็วสูงฯ โดยคาดว่าความสามารถในการบรรทุกสินค้าของรถไฟความเร็วสูงในระยะแรก (ปี 2022-2025) จะอยู่ที่ปีละประมาณ 2.2 ล้านตัน [1]และให้ความ
    สามารถในการส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม หรือส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณส่งออกเท่ากับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2019-2021)ซึ่งเท่ากับ 0% ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปจีน ดังนั้น จึงคาดว่าไทยจะมีโอกาสส่งออกสินค้าเพิ่มเติมผ่านช่องทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้ประมาณ 7 หมื่นตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า
    เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือ 4,329 ล้านบาท  ซึ่งหากคิดเป็นอัตราการเติบโต จะทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจากอัตราการเติบโตปกติอีกประมาณ 2%

ในระยะต่อไป (ปี 2025-2027) หากสมมติฐานให้ความสามารถในการส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มทำได้ในสัดส่วนเดิม แต่ Capacity ในการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงสายนี้เพิ่มขึ้นจากจำนวนเที่ยวในการขนส่งที่ปรับเพิ่มเป็น 14 เที่ยวต่อวัน ซึ่งจะทำให้รถไฟสายนี้สามารถขนส่งสินค้าโดยรวมได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6.1 ล้านตัน [2]จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปจีนได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 แสนตันต่อปี (จากสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 11,955 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.3 บาท/เหรียญสหรัฐฯ)

Implication:

Krungthai COMPASS มองว่า แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวจะเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ดังนี้

  • ความคุ้มค่าในการปรับเปลี่ยนการขนส่งมาเป็นทางราง แม้ว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงจะสร้างโอกาสในการขยายตลาด แต่ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าเป็นหลัก เช่น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาระยะทางระหว่างสถานีขนส่งและสถานที่ตั้งของโรงงานที่อาจอยู่ห่างไกล ซึ่งอาจทำให้การปรับเปลี่ยนการขนส่งมาเป็นทางรางไม่คุ้มค่า เช่น ผู้ประกอบการที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ การปรับเปลี่ยนการขนส่งมาใช้ทางราง จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องขนส่งสินค้าจากภาคใต้ขึ้นไปภาคเหนือโดยทางรถบรรทุก  นอกจากนี้ไทยยังต้องอาศัยรถบบรทุก เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเส้นทางรถไฟเข้าถึงจีน-ลาวได้ ซึ่งทำให้ต้นทุนและเวลาในการขนส่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเปรียบต้นทุนการขนส่งอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในการเลือกใช้วิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อที่ไม่ให้ส่งผลกระทบกับต้นทุนในการขนส่งของผู้ประกอบการ
  • อุปสรรคด้านกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีความพยายามลดกำแพงภาษีและขจัดอุปสรรคทางการค้า แต่การขนส่งทางรถไฟยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการขนส่งสินค้าผ่านแดนถึงสองประเทศ อาจทำให้กฎระเบียบต่างๆเข้มงวดมากกว่าเดิม อีกทั้งยังคงมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และกฎระเบียบที่มีการนำประเด็นทางสังคมต่าง ๆ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น กำหนดเงื่อนไขการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านศุลกากร โดยเฉพาะในการนำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มผลไม้ ที่ทางการจีนยังคงมีเงื่อนไขด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด อาทิ มาตรการ Zero-COVID ที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้กระบวนการส่งออกมีความปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 มากขึ้น
  • ระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบการกระจายสินค้าระหว่างไทย-สปป. ลาว ที่ยังไม่พร้อมและครอบคลุมมากนัก ทำให้อาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการกระจายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณการค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ
  • สินค้าจากจีนอาจเข้ามาแย่งตลาดสินค้าของไทยได้ แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวจะเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยไปจีน อย่างไรก็ดี อาจมีความเสี่ยงที่สินค้าจากจีนจะเข้ามาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าผักและผลไม้ที่มีราคาถูกกว่าไทย เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลีเขียว เป็นต้น ดังนั้น ในระยะต่อไปผู้ประกอบการอาจต้องเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อสร้างความแตกต่างกับสินค้าจากจีน เช่น การพัฒนาสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ออร์แกนิก หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เป็นต้น

[1] ความสามารถในการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีน-สปป.ลาว ปีละ 2.2 ล้านตัน คำนวณจาก 1) รถไฟ 1 เที่ยวสามารถขนสินค้าได้ 60 ตู้ และ 1 ตู้รองรับได้ 20 ตัน โดยคาดว่าจะมีการขนส่งสินค้าประมาณ 5 เที่ยวต่อวัน

[2] ความสามารถในการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีน-สปป.ลาว ปีละ 6.1 ล้านตัน คำนวณจาก 1) รถไฟ 1 เที่ยวสามารถขนสินค้าได้ 60 ตู้ และ 1 ตู้รองรับได้ 20 ตัน โดยคาดว่าจะมีการขนส่งสินค้าประมาณ 14 เที่ยวต่อวัน

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp