CEA ถอดแบบพื้นที่ความสำเร็จ “สกลนคร” โมเดลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุบชีวิตถิ่นอีสาน

159

มิติหุ้น  –  นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(CEA) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบผ่านกลไกของเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ Thailand Creative District Network (TCDN) ในภูมิภาคต่าง ๆ ตามพื้นที่เป้าหมาย โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ในการฟื้นฟูย่านเศรษฐกิจเดิมโดยร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดึงศักยภาพ สะท้อนอัตลักษณ์ความโดดเด่นสู่พื้นที่การลงทุนใหม่อีกครั้ง เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมในทุกภูมิภาคของไทย รวมทั้งสิ้น 33 แห่ง

“ในหลายพื้นที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง และยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ” นายชาคริตกล่าว

ชู”สกลจังซั่น” โมเดลความสำเร็จ พัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ได้ โจทย์สำคัญในการคัดเลือกและพัฒนา ต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพ โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้คอนเซ็ปต์ “น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว” ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้คน ชุมชน กิจการและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หลากหลาย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เป็นโมเดลในการพัฒนาที่เริ่มต้นจาก การเข้าร่วมโครงการ TCDN จนสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ที่เด่นชัด คือ จังหวัดสกลนครที่ขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการจัดงาน “สกลจังซั่น” ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งนักสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนในพื้นที่ และ นักลงทุนท้องถิ่นจนทำให้โมเดลสกลจังซั่นประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถฟื้นชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชนให้กลับมาคึกคัก เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้อย่างน่าชื่นชม

เปิดมุมมอง คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสรรค์ พลิกฟื้นอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม

ด้าน นายธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช ผู้ประกอบการสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ตัวแทนกลุ่ม YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce) กล่าวว่า จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดในภาคอีสานตอนบน เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ เทือกเขา แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชาติพันธ์  โดยเฉพาะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองธรรมะ เป็นจุดหมายของสายบุญ  แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สกลนครเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานคราฟท์ ผ้าคราม เริ่มเป็นที่รู้จักและเกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2560 เศรษฐกิจในท้องถิ่นเริ่มชะงัก แต่ได้มีโอกาสรู้จักกลุ่ม”สกลเฮ็ด” ที่เข้ามาช่วยเรื่องน้ำท่วม และทำเรื่องงานคราฟท์ งานดีไซน์ ออกแบบ ทำให้เกิดความรู้สึกสนใจขึ้นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้น และไอเดียทำ “สกลจังซั่น” ขึ้นมา และโมเดลนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปัจจุบัน

ในฐานะบทบาทของ YEC จึงเริ่มมีความคิดว่ากิจกรรมแบบนี้ควรบรรจุเป็นวาระของจังหวัด เพื่อให้เกิดการส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์อย่างจริงจัง ด้วยได้รับความร่วมมือ จาก CEA ภายใต้โครงการ TCDN ให้คำปรึกษาร่วมเป็นภาคี มีการเดินสายพูดคุยกับเทศบาลฯ และจังหวัดถึงเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ ขยายจากพื้นที่เดิมไปเปิดพื้นที่ใหม่ที่อาจจะถูกลืมเลือนไป หรือ เป็นพื้นที่รกร้างที่คนมองว่าไม่น่าสนใจ แต่เราสามารถไปปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ ล่าสุดโมเดลนี้ได้รับการตอบรับ และสร้างชื่อไปยังประเทศอังกฤษ และ ญี่ปุ่น มีนักศึกษาที่ให้ความสนใจโมเดลนี้ มาวิจัยเพื่อทำรายงานวิทยานิพนธ์ด้วย

“ผมตื่นเต้นมากที่โมเดลนี้ไปไกลถึงญี่ปุ่น คือ ม.เกษตรหยิบเคสนี้ไปวิจัยแล้วเกิดเป็นหัวข้อที่ญี่ปุ่นสนใจและอยากมาดูงานพื้นที่จริง ผมทราบมาว่าจะมีนักศึกษาจากญี่ปุ่นร่วมกับม.เกษตร พร้อมทีมงานอาจารย์มารีเสิร์ชพื้นที่เกี่ยวกับเทศกาลสกลจังซั่น คือ ประเทศญี่ปุ่นเขาจะรู้จักซอฟท์ เพาเวอร์อยู่แล้ว มีกิมมิคอยู่แล้ว เขาสร้างสรรค์อยู่แล้ว ดังนั้นผมก็ไม่คิดว่าจะดังถึงญี่ปุ่น และมีนักศึกษาป.โท จากอังกฤษก็จะมาทำวิจัยเรื่องสกลจังชั่นเหมือนกัน เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก”  นายธรรมวิทย์กล่าว

พัฒนาพื้นที่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ กระตุ้นเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น

ด้าน นายยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ ตัวแทนนักสร้างสรรค์ หัวหน้ากลุ่มสกลเฮ็ด กล่าวว่า “สกลจังซั่น” นับเป็นโมเดลที่ดีมาก เป็นรูปแบบการทำงานร่วมกับหอการค้า และ จังหวัด โดยที่ CEA เข้ามาเชื่อมโยง จากการที่กลุ่มได้เขียนใบสมัครยื่นขอรับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์  และได้รับคัดเลือก และได้มีการส่งทีมลงไปศึกษาข้อมูลพื้นที่ต่าง ๆ ให้กลับมาพลิกฟื้นสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการนำโรงแรมเก่าที่ไม่ได้ใช้มา 30 ปี และ ตึกเก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน มาครีเอทใหม่ที่ดึงเอาอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างหมอลำมานำเสนอให้

น่าสนใจ และมีเชฟเทเบิ้ล เพื่อให้บริการควบคู่ไปกับการสร้างกิจกรรมตลอดถนนคนเดิน  มีการทาสีใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน  และได้ขอใช้พื้นที่วัดพระธาตุเชิงชุมในการบอกเล่าเรื่องหนองหาร ที่เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของชุมชน  ทำให้เกิดสร้างมูลค่าในพื้นที่เพิ่มขึ้น จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ชุมชนยังมีส่วนร่วม โดยการเปิดบ้านขายของ เพื่อรองรับนักเดินทางในช่วงจัดงาน  สามารถสร้างเม็ดเงินได้สูงถึง 7 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัด หลังจากที่งานประสบความสำเร็จก็เกิดการต่อยอดในพื้นที่อำเภออื่น ๆ จัดงานคล้ายเทศกาลสกลจังซั่น ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของจังหวัด

ปัจจุบันจังหวัดสกลนคร มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งหมด 5 รายการได้แก่ ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เนื้อโคขุนโพนยางคำ ข้างฮาง น้ำหมักเม่า และ วัฒนธรรมแห่งการปรับตัวของชาวสกลนคร บ่มเพาะความสามารถในการอยู่รอดให้กับลูกหลาน  ผลักดันจากพื้นที่ชนบท กลายเป็นเมืองคราฟท์ มีกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างมุมมองใหม่ร่วมสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์พื้นถิ่น ของภาคอีสานได้อย่างสมบูรณ์ และเข้มแข็ง

สำหรับการขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปัจจุบัน CEA ได้ลงพื้นที่และเริ่มดำเนินการไปแล้ว 33 พื้นที่ โดยแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ 1.ย่านในเวียง จ.เชียงราย 2.ย่านระเบียงกว๊าน จ.พะเยา 3.ย่านเมืองเก่าน่าน จ.น่าน 4.ย่านเมืองเก่าในคูเมือง จ.ลำพูน 5.ย่านเจริญเมือง จ.แพร่ 6.จ.อุตรดิตถ์ 7. จ.ลำปาง ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคตะวันตก รวม 10 จังหวัด ได้แก่ 1.ย่านเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย 2.ย่านโรงละครแห่งชาติตำวันตก จ.สุพรรณบุรี 3.ย่านเมืองนครปฐมและย่านศาลายา จ.นครปฐม 4.ย่านเมืองเก่า จ.ระยอง 5.พิจิตร 6.สระแก้ว 7.พิษณุโลก 8.เพชรบุรี 9.ย่านเมืองพัทยา จ.ชลบุรี 10. จันทบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 1.ย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ จ.นครราชสีมา 2.ย่านบ้านเดิ่น-บ้านด่านซ้าย จ.เลย 3.ย่านเมืองเก่า จ.สกลนคร 4.ย่านเมืองเก่า อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 5.ร้อยเอ็ด 6.ศรีสะเกษ 7.อุดรธานี และ ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ 1.ย่านท่าวัง-ท่ามอญ จ.นครศรีธรรมราช 2.ย่านเมืองเก่า จ.สงขลา 3.ย่านอา-รมย์-ดี จ.ปัตตานี 4.ภูเก็ต 5.ตรัง 6.พัทลุง