SCB EIC มูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว จับตาความท้าทายต้นทุนสูง ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และแรงกดดันจากเทรนด์ ESG

235

มิติหุ้น – มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว +3%YOY แตะระดับ 817,000 ล้านบาท จากโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องจากในอดีตมีความคืบหน้า รวมถึงยังมีการประมูล และก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ อีกทั้ง งบลงทุนในงบประมาณประจำปี 2566 เพิ่มขึ้น +6%YOY และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 ถึง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2566 ยังสูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายด้านความล่าช้าในการอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ ๆ จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ที่อาจล่าช้าออกไปหลังไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 และอาจมีผลต่อเนื่องไปยังการเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐในปี 2567

 

มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว มาอยู่ที่ 586,000 ล้านบาท (+3%YOY) โดยเป็นการขยายตัวของมูลค่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ได้แก่ อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก รวมถึงการ Renovate พื้นที่ค้าปลีก และโรงแรม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ภาคก่อสร้างยังเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน และแรงกดดันจากเทรนด์ ESG ดังนี้

  • ต้นทุนก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูง ปี 2566 ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง ราคายังมีความผันผวนระหว่างปี นอกจากนี้ จำนวนแรงงานไทยในภาคก่อสร้างที่กลับมาปรับตัวลดลง เป็นเหตุให้ค่าแรงงานในภาคก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูง นำมาซึ่งความเสี่ยงให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการยังคงอยู่ในระดับต่ำ
  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน ปี 2566 ผู้ประกอบการที่รับงานก่อสร้างภาครัฐเป็นหลัก จะเผชิญปัจจัยท้าทายทั้งความล่าช้าในการอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐที่มูลค่าสูงหลังการประกาศยุบสภา รวมถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 และการเบิกจ่าย ที่อาจล่าช้าออกไปหลังไตรมาสที่ ของปี 2566
  • แรงกดดันจากเทรนด์ ESG แรงกดดันจากกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการประกาศให้หยุดการก่อสร้างในบางช่วง เช่น ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงแรงกดดันจากคู่ค้า ลูกค้า และผู้บริโภค เช่น การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green supply chain ความต้องการที่อยู่อาศัย และอาคารที่สามารถรองรับภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น อาคารที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามมาตรฐานอาคารที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

 

ความท้าทายดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องปรับกลยุทธ์รับมือ ได้แก่

  • การเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และควบคุมต้นทุนก่อสร้าง ด้วยการพัฒนาศักยภาพ และร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเข้าประมูลงานก่อสร้างได้อย่างหลากหลาย ระมัดระวังการเข้าประมูลแบบแข่งขันด้านราคา ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) รวมถึงทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้า ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้
  • การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยปรับสัดส่วนการรับงานก่อสร้างภาครัฐ และเอกชนให้เหมาะสม รวมถึงดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามกำหนด
  • ตอบโจทย์เทรนด์ ESG ด้วยการหาพันธมิตรวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลงทุนนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon