ค่าเงินอ่อนหลุด 37 บาท หุ้นไหน “ได้-เสีย”?

970

             ณ สิ้นวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ตลาดหุ้นไทยเกิดสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับต้นปีนี้ ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยบล.ยูโอบี คาดว่าค่าเงินบาทจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ หรือเฉลี่ยทั้งปี 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยกดดันมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

             โดยภาวะบาทอ่อนค่านั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้าที่มีต้นทุนเป็นเงินตราต่างประเทศสูง เช่น กลุ่มสายการบิน กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มยานยนต์ กลุ่มยางและเคมีภัณฑ์ ในขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออก หรือกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูง เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน

 

หุ้นส่งออกเด่น รับผลดีบาทอ่อน

             หุ้นกลุ่มส่งออกในประเทศไทยที่คาดว่าได้รับผลประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนนั้น แบ่งได้ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น CPF, GFPT, TU, OSP กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น SCC, SCGP, HMPRO, AEONTS กลุ่มเคมีภัณฑ์ เช่น IRPC, PTTGC, SCC และ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น KCE, HANA, SVI

             ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ แบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสายการบิน เช่น THAI, AAV, BA กลุ่มโรงไฟฟ้า EGCO, RATCH, BGRIM กลุ่มยานยนต์ เช่น AH, SAT, SIAM กลุ่มยางและเคมีภัณฑ์ เช่น STA, NER, IRPC

 

5 โบรกฯ แนะกลยุทธ์การลงทุน

             ด้านบล.ฟิลลิป ระบุว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอ่อนค่าเป็นแรงกดดันต่อ Fund flow แต่ในทางกลับกันก็เป็นแรงหนุนต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ได้แก่ HANA , KCE, SAPPE, TU หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว+มาตรการรัฐ ได้แก่ AOT, BA, CBG, CENTEL, ERW, MINT, SPA หุ้น Defensive ได้แก่ ADVANC , BCH, BDMS, CHG, EKH และหุ้น Selective ได้แก่ BBL และ KTB

             บล.ยูโอบี ชี้ ภาพรวมตลาดยังถูกกดดัน โดยผลตอบแทนพันธบัตรในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนหุ้น อีกทั้งการรายงานผลประกอบการ Q3/66 ในช่วง ต.ค.- ต้นพ.ย. หลายกลุ่ม (โดยเฉพาะหุ้นบริโภคในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบภัยแล้งและการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัว) จะยังเป็นปัจจัยกดดันประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน

             แนะลงทุนหุ้น HANA, KCE, SVI, TU และ CPF ในขณะเดียวกันหุ้นที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม จากกำลังซื้อของต่างชาติที่มากขึ้น ได้แก่ BDMS, BH, BCH, AOT, SPA, AWC และ ERW พร้อมแนะปรับพอร์ตลงทุน เงินสด 40% และ พอร์ตหุ้น 60%

             บล.ดาโอ แนะถือเงินสด 70% รับความกังวลจากปัจจัยลบของตลาดรอบด้าน โดยแนะนักลงทุนพักเงินไว้ในหุ้นไม่ถูกกระทบจากปัจจัยลบของตลาด ซึ่งเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลที่ดี ได้แก่ INTUCH ,DMT และลงทุนหุ้นที่ได้รับประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า อาทิ HANA ,JMT และ BH

             บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เผยว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าแรง สะท้อนแรงขายของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังมีต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ทรงตัวในโซนสูงช่วง 3.15 – 3.20% ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของปีที่ทำไว้ระดับ 3.26% พร้อมแนะกลยุทธ์การลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว กำไรเด่น

             บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ คาด FED จะคงดอกเบี้ยระดับสูงเป็นเวลานาน กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แนะกลยุทธ์ลงทุนในระยะสั้น เข้าไว-ออกไว โดยทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานเมื่อดัชนีอ่อนลง

             อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่าต่อหุ้นไทยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และต้นทุนการผลิต รวมถึงนักลงทุนยังต้องจับตาแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อ จากสัญญาณ FED คุมเข้มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อต่อไป

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon