TU ไตรมาส 3 GPM สูงกว่าคาด, มองไตรมาส 4 จะทำกำไรแข็งแกร่ง

42

มิติหุ้น – ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า TU ทำกำไรสุทธิในไตรมาส 3/66 ได้ 1,206 ล้านบาท ลดลง 52% yoy แต่เพิ่มขึ้น 17% qoq  แต่เมื่อรวมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน ไม่รวมการปรับปรุงรายการทางบัญชีของ Red Lobster (RL) TU จะมีกำไรดำเนินงานปกติ 1,230 ล้านบาท ลดลง 47% yoy แต่เพิ่มขึ้น 17% qoq สูงกว่าที่เราคาดไว้ 15%

รายได้จากการขายในไตรมาส 3 ลดลง 17% yoy และ 0.4% qoq เพราะลูกค้ายังระบายสินค้าคงคลัง บวกกับราคาขายเฉลี่ย ของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป OEM และยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปลดลง จากฐานสูงในไตรมาส 2/66 ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เพิ่มเป็น 18.4% เทียบกับ 16.9% ไตรมาส 2/66 และ 18.2% ในไตรมาส 3/65 มีปัจจัยหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และ GPM ของธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน RL มีขาดทุนดำเนินงานปกติสูงขึ้นเป็น 395 ล้าน บาท เทียบกับขาดทุน 94 ล้านบาทในไตรมาส 2/66 และ 339 ล้านบาทในไตรมาส 3/65 สาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยอดขายที่ชะลอตัวตามวัฏจักร qoq

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 3 ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนลดลงเหลือ 234 ล้านบาท จาก 256 ล้านบาทในไตรมาส 3/65 เพราะ ส่วนแบ่งจาก Avanti เพิ่มขึ้น

ราคาปลาทูน่า Skipjack ปรับตัวลง qoq มาอยู่ที่เฉลี่ย 1,600 เหรียญสหรัฐ/ตันในเดือนต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 1.3% yoy แต่ลดงลง 5.9% mom เทียบกับราคาที่ TU รับได้คือ 1,400-1,700 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดย TU ให้ข้อมูลว่าเป็นเพราะปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้น เรามองว่าจะส่งผลดีต่อ GPM ในไตรมาส 4/66 และไตรมาส 1/67

เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจหลักของ TU อย่างชัดเจนในไตรมาส 3 โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง คาดว่า TU จะมีผลประกอบการฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 นี้ เพราะเป็นไฮ-ซีซั่นของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และอุปสงค์จากลูกค้าจะฟื้นตัว เราเชื่อว่าปีนี้ TU จะกลับมามีกำไรสุทธิเติบโต yoy เป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 เนื่องจากอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ของ TU เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่ GPM  จะทรงตัวอยู่ในระดับดี จากต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าลดลงในไตรมาส 3 และไตรมาส 4

เรายังแนะนำ “ซื้อ” TU ปรับราคาเป้าหมายเป็น 17.30 บาท จาก 17.20 บาท หลังเห็น GPM ฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งปัแรก และปรับประมาณการ EPS สะท้อน GPM ที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 3 แต่เนื่องจากธุรกิจในต่างประเทศและการส่งออกมีรายได้คิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รวม เราจึงมองมี downside risk หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทและอุปสงค์สินค้าที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon