SCB EIC วิเคราะห์ Thailand Taxonomy อีกหนึ่งคัมภีร์นำทางธุรกิจพลังงานไฟฟ้า

80

ESG เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ และมีบทบาทต่อการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชน

หลายภาคส่วนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญประเด็นด้าน ESG โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ตื่นตัวมากขึ้น บ่งชี้จากเกณฑ์การกำกับที่มากขึ้น (จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว จากปี 2016 ที่มีเพียง 55 กฎระเบียบ เพิ่มขึ้นเป็น 256 กฎระเบียบ ในปี 2021) ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือกันของนานาประเทศผ่านความตกลงปารีสที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2016 ยังผลให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยเฉพาะในภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก

ตลาดการเงินสีเขียว… หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวด้าน ESG

ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ถูกกดดันจากกฎระเบียบด้าน ESG ที่มากขึ้น แต่ยังคงถูกกดดันจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน (เช่น การเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก และบางธนาคารก็เริ่มออกจากการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ไม่มีแผน  Transition ที่น่าเชื่อถือ) ส่งผลให้การระดมเงินทุนของธุรกิจมุ่งเน้นไปที่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับไปกับการปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2014-2018 ถึงราว 176% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด

ปัญหาฟอกเขียว… ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว

ปัญหาฟอกเขียว[1] เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินสีเขียวเติบโตก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน (จากฐานข้อมูลของ RepRisk จำนวนเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็น ESG ขององค์กรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1,000 ครั้งต่อปี เทียบกับช่วงปี 2014-2018 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อปี) โดยภาคธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก

Green taxonomy ตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาฟอกเขียว หนุนตลาดการเงินสีเขียว

ปัญหาฟอกเขียวในหลายครั้งเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีมาตรฐานสำหรับจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมสีเขียว จะทำให้หลายฝ่ายสามารถใช้เป็นแนวทาง โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกันได้ และลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว  Green taxonomy หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Taxonomy” คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับไทยเลือกใช้เกณฑ์การระบุกิจกรรมสีเขียวด้วยเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค[2] ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ EU และสอดคล้องไปกับ ASEAN Taxonomy ทั้งนี้ไทยได้มีจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงาน (ฝั่งอุปทาน หรือ Supply) และภาคขนส่งก่อน

แนวทางของการปรับตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้า หากต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว

Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และความเย็น รวมถึง การส่ง-จ่ายไฟฟ้า ทั้งนี้จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy จะพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 หากธุรกิจต้องการดำเนินกิจการให้สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว ธุรกิจจำเป็นต้อง…

  • เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น เนื่องจาก Thailand Taxonomy ระบุว่าเป็นกิจกรรมสีเขียว (ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจ/โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน)
  • ปรับปรุงกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ
  • มุ่งเน้นพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากหันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2040 และหลังปี 2040 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh
  • หลีกเลี่ยงการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2023 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง

Green taxonomy เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าควรพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำลง

Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก เช่น ธุรกิจพลังงานและธุรกิจโรงไฟฟ้าในยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับงบลงทุนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy มากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ

ตามปกติการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวจะมีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป หรือเรียกว่ามี Greenuim[3] ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องด้วยความต้องการในตราสารหนี้ สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง (เนื่องจาก 1. ตราสารหนี้สีเขียวมีความ Defensive  มากกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป 2. การเคลื่อนไหวของ Greenium ยังดึงดูดให้นักลงทุนที่เน้น Alpha opportunities เข้ามาลงทุน และ 3. เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะถือครองตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้น)

นอกจากนี้ สินเชื่อสีเขียวมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินเชื่อปกติ ทั้งนี้การผลักดันจากทั้งภาครัฐ ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่าง ๆ และองค์กรนานาชาติ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ (ผ่านมาตรการที่หนุนให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อปกติ) ท่ามกลางการให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้นของธนาคารเอกชนหลายแห่งทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย สำหรับไทย แม้ว่าการเงินสีเขียวจะค่อนข้างเติบโตได้ดีในกลุ่มตราสารหนี้ แต่ SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy จะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวทำได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น ท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ที่สอดรับกัน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น

ความท้าทายบางประการในการประยุกต์ใช้ Taxonomy ที่หากข้ามผ่านได้อาจหนุนการเงินสีเขียวเร่งตัวได้ดีขึ้น

แม้ว่า Green taxonomy จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อสีเขียว แต่ยังมีความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1. การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรมและยังไม่กว้างขวางเพียงพอ 2. การสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินพยายามปรับตัวตาม Net zero pathway และอาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวใหม่ ๆ และ 3. กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยงด้าน ESG ที่จะมีผลต่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon