SCB EIC คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ตลอดปีหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังไม่แผ่วลงมากนัก

53

มิติหุ้น  –  กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2024 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและภาคการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งนี้ กนง. เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2023 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้า ตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังในประเทศที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2024 ล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2024 จะปรับลดลงอยู่ในช่วง 2.5-3% โดยยังมีการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นช้ากว่าคาด มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

กนง. ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้จากปัจจัยอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อ
ที่ต่ำลงในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า นอกจากนี้ หากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานโลก ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

 

กนง. ประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ และภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว โดยการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในภาพรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ไม่เต็มจำนวน สำหรับภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน

 

IMPLICATIONS

SCB EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไว้ตลอดปี 2024 (รูปที่ 1) โดยมองว่า กนง. จะพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว (Forward looking) มากกว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้ว (Backward looking) หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไปยังเป็นไปตามที่ SCB EIC เคยคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ กนง. จะยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว (Neutral rate) ตามที่ กนง. สื่อสารไว้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการดูแล SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ภาระหนี้สูงและรายได้ฟื้นตัวช้า กนง. ยังมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน มากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นมาตรการแบบครอบคลุมและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเติบโตชะลอลงกว่าประมาณการที่ กนง. ประเมินไว้ตามผลประชุมครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องและกระจายไปในสินค้าและบริการเป็นวงกว้างมากขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชัดเจนขึ้น อาจส่งผลให้ กนง. ต้องเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่เป็นไปตามคาดได้

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจของ SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2024 โดยแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน (รูปที่ 2) ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นและมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2024 ที่ล่าช้า ซึ่งจะกดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก เป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทย

สำหรับเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจโลกในปี 2024 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้ง ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในกว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก นอกจากนี้ การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกอาจเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดงและปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือหรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าและต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น

สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายขึ้นได้ สำหรับจีนยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ขั้นต่ำ (Required Reserve Ratio) ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative interest rate) ในปีนี้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon