SCC น่าจะยังอยู่ในจุดต่ำสุดของวงจร แนวโน้มยังท้าทาย

201

 

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่า สเปรด PE (polyethylene) และ PP (polypropylene) ในอาเซียนช่วงไตรมาส 1/67 จะเพิ่มเป็น 202 เหรียญ สหรัฐ/ตัน จาก 64 เหรียญสหรัฐ/ตันในไตรมาส 4/66 แต่โครงการมาบตาพุดโอเลฟินส์ของ SCC ในไตรมมาสแรกนี้น่าจะยังขาดทุนสุทธิ โดยการหยุดซ่อมบำรุงทั่วภูมิภาคอาเซียน (CMA) รายงานว่ากำลังการผลิตเอทิลีนในเอเชียที่หยุดผลิตมีสัดส่วน 16% ของกำลังผลิตรวมในไตรมาส 1/67 จะช่วยหนุนสเปรด

แต่สเปรด PE/PP อาจไม่เพิ่มมากนัก เนื่องจาก Naphtha cracker ที่จะกลับมาเปิดดำเนินงาน รวมถึงโครงการระยองโอเลฟินส์ ของ SCC จะส่งผลให้อุปทานเพิ่มขึ้นในตลาดที่อ่อนตัวอยู่แล้ว

ขณะที่สเปรด PVC (polyvinyl chloride) ในเอเชียของผู้เล่น Non-integrated ลดลงจาก 325 เหรียญสหรัฐ/ตันในไตรมาส 4/66 เหลือ 280 เหรียญสหรัฐ/ตันไตรมาส 1/67 จากต้นทุน EDC ที่เพิ่มขึ้น เพราะค่าขนส่งแพงและมี cargo จากสหรัฐฯจำกัด เป็นผลจากปัญหาการขนส่งในทะเลแดง เชื่อว่าต้นทุน EDC อาจเพิ่มอีกในไตรมาส 2/67 เนื่องจากผู้ผลิต PVC ในเอเชียจะเติมสต็อกก่อนเข้าไตรมาส 3/67 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุปสงค์การนำเข้าจากอินเดียตามฤดูกาล

ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่า ธุรกิจ PVC น่าจะมีสัดส่วนประมาณ 67% ของ EBITDA จากธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ SCC ในปีนี้ ดังนั้นจึงคาดว่าสเปรด PVC ที่ลดลงทุก 10 เหรียญสหรัฐ/ตัน จะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ลดลง 1.6%

อุปกรณ์หลักของ Mixed-feed cracker ของโครงการ Long Son Petrochemical (LSP) ได้รับความเสียหายระหว่างซ่อมบำรุง SCC จึงหยุดผลิตทั้งหมด และเลื่อนเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นเดือนมิ.ย. 67 จากเดิมคาดเดือนเม.ย.นี้ ซึ่ง SCC บริหารต้นทุนเงินทุนด้วยการลดภาระดอกเบี้ยของโครงการ โดยการรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะทำให้ต้นทุนหนี้สินเฉลี่ยลดลงจาก 6% เหลือ 4%

ขณะที่ SCC ประเมินผลกระทบว่า จะทำให้โรงงาน PE/PP ปลายน้ำมีขาดทุนสุทธิรวม 300-400 ล้านบาทต่อเดือน และ Cracker ต้นน้ำมีขาดทุน 400 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ ปรับประมาณการ EPS ในปี 67-69 ของ SCC ลง 10-12% หลังปรับลดสมมติฐานสเปรด PVC 10-12% และปรับลดสมมติฐาน EBITDA ของ LSP นอกจากนี้คาดว่า EBITDA ที่ลดลงส่งผลให้ราคา เป้าหมาย ลดลงมาที่ 245 บาท จึงยังแนะนำ “ขาย” SCC เพราะมองว่าผลกำไรของธุรกิจ เคมีภัณฑ์น่าจะเพิ่มขึ้นจำกัดช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่สเปรด PVC ยังอ่อนตัว

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในไตรมาส 1/67 น่าจะมี EBITDA เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่มองว่าจะยังไม่มี upside มากนักจนกว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยลบที่จะกดดันราคาหุ้นคือ สเปรด PE/PP ที่อ่อนตัวกว่าคาด ส่วน upside risk จะมาจากปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่าคาด

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon