สกสว. ผนึก 4 หน่วยงานพันธมิตร ถกความพร้อม AI ไทย พร้อมหนุนแผนใช้สมรรถนะ ปัญญาประดิษฐ์ยกเครื่องอุตฯ เป้าหมายและระบบ ววน. ของประเทศ

37

มิติหุ้น –  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ร่วมระดม ความเห็นและวางแนวทางการนำ Generative AI มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ผ่านเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 3 โอกาสของ Generative AI ในประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงโจทย์วิจัย ในการปิดช่องว่างสำคัญ และวางแผนการพัฒนาระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการผลักดันอุตสาหกรรม AI ของประเทศ

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 ของประเทศ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งมีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยประเด็นของ Generative AI เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดงานเสวนาครั้งนี้จะทำให้ได้จุดโฟกัส เพื่อนำไปสู่การวางแผนและกำหนดโจทย์วิจัยให้มีความชัดเจน สร้างโอกาสและตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ดร.อธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช. ระบุว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามหมุดหมายที่ 6: ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือแนวทางขับเคลื่อนร่วมกัน เพราะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลศูนย์กลางเทคโนโลยีของอาเซียนนั้น ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ Semiconductor, Cloud Data Center, Big Data & AI ที่มีความเชื่อมโยงกับการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในมุมของการส่งออกของไทยที่ยังมีสัดส่วนการส่งออกเทคโนโลยีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุน ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีต้นน้ำ เพื่อให้ได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีเหล่านี้และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยี ทั้งนี้เรื่อง Digital Economy Hub ก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายไว้ใน Ignite Thailand กับการมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกอีกด้วย

ขณะที่ ผศ. ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อธิบายว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย มีรายได้ส่วนใหญ่จาก Digital Service ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงถ้าเทียบกับมูลค่าของตลาดโลก ดังนั้น ไทยจะต้องใช้การวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) ช่วยยกระดับมูลค่าให้เป็นงานที่มีมูลค่าสูง โดยต้องทำความเข้าใจ Digital Technology และสร้างงานวิจัยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อลดการนำเข้า พร้อมทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้าน Generative AI เช่น Large language Model (LLM) -Thai Improvement, Generative AI in Service Sector, Generative AI for R&D และ Empowering Users by Prompt Engineer

ด้าน คุณศาศวัต นธการกิจกุล Senior Solution Architect, Amazon Web Service (AWS) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Generative AI คือเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งด้านการตลาด การสร้างผลผลิตด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การจัดการข้อมูลเชิงลึกและความคิดสร้างสรรค์ของเนื้อหา แนวคิดใหม่ ๆ ทั้งรูปภาพ วิดีโอและเพลง โดย Generative AI เหมือนยอดภูเขาที่ต้องสร้างรากฐานจากหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะกรอบความคิดของผู้ใช้ ทักษะและประสบการณ์ของคน รวมไปถึงกฎระเบียบและการสนับสนุนจากรัฐบาล

การเสวนาในช่วงสุดท้าย “โอกาสและความท้าทายของ Generative AI ในประเทศไทย” ได้รับเกียรติจาก ดร.วีระ วีระกุล รองประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ CEO บริษัท iAPP Technology จำกัด ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director บริษัท กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป และ ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ข้อคิดเห็นโดยสรุปว่า Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง มีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น การให้บริการตอบคำถามและให้คำแนะนำต่างๆ (Chatbot), การใช้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศการใช้ออกแบบการเรียนที่จำเพาะตามความถนัดและความต้องการของแต่ละบุคคล (Individual Person Suggestion) รวมไปถึงอนาคตสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาบริการของทางภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย คือ ประเทศไทยยังขาดการเชื่อมโยงของข้อมูล (Data Sharing) ทั้งจากทางภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นหัวใจของการสอน Generative AI ให้เก่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนา Generative AI ที่มีลักษณะจำเพาะในบริบทของคนไทยเอง

นอกจากนี้ ในเรื่องของกฎระเบียบและกฎหมาย ประเทศไทยควรมีแผนรองรับและกลไกการจัดการที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำ Generative AI มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้สูงสุด และลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ สกสว. จะนำข้อมูลที่ได้จากการเสวนามาวิเคราะห์ วางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป  

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon