สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผนึกกำลังบริษัทสมาชิก ช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ กรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

119

มิติหุ้น  –

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ กองทุนประกันวินาศภัย เรื่องการดำเนินการด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ทำประกันภัยที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นั้น

สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วมใน “โครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยอีกทางหนึ่งด้วย

การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย กรณีเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยติดต่อซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ (กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สิ้นสุด ณ วันที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่)

ผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่มาใช้แทนเงินสดในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียงบางส่วน ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่รับภาระในการไปเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยเอง

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ สามารถดำเนินการติดต่อทำประกันภัยฉบับใหม่ ได้ที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้

1. ผู้เอาประกันภัยติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (ระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี)

2. บริษัทประกันวินาศภัยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ (เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมที่นำมาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิ ไม่รวมภาษีและอากร)

3. ผู้เอาประกันภัย โอนสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนจากกองทุนประกันวินาศภัย (ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่) ให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยใหม่

4. บริษัทประกันวินาศภัยเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย หักด้วยเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืน

5. บริษัทประกันวินาศภัยรับภาระการไปเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนจาก กองทุนประกันวินาศภัย แทนผู้เอาประกันภัย

กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันภัยขอคืนเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ได้ที่ กองทุนประกันวินาศภัย

ในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ไม่ประสงค์จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใด ๆ ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อไปที่ “กองทุนประกันวินาศภัย” เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 ถึง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ตามช่องทางที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ (เบี้ยเฉลี่ยรายวัน ตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่) กองทุนประกันวินาศภัย จะดำเนินการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับไปยังผู้เอาประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับจะสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 8 กันยายน 2567

สำหรับ บริษัทประกันวินาศภัย ที่เข้าร่วมโครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีจำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ดังนี้

1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)

3. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)

6. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)

7. บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

8. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

9. บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ในส่วนของแนวทางปฏิบัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีการประกันภัยรถยนต์ หากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุนับตั้งแต่วันที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ สมาคมฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังบริษัทประกันวินาศภัยทุกบริษัทให้ถือปฏิบัติโดยไม่นำเรื่องสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนระหว่างบริษัทประกันภัยมาใช้บังคับ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้เอาประกันภัยหรือคู่กรณีกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ โดยขอความร่วมมือบริษัทประกันวินาศภัยดำเนินการจัดการค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

กรณีที่ 1 กรณีที่รถของผู้เอาประกันภัยกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เป็นฝ่ายผิด

ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทตนเอง (ซึ่งเป็นคู่กรณีของบมจ.สินมั่นคงประกันภัย) ถือเสมือนไม่มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock for Knock Agreement) และสามารถรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืนได้จากผู้ชำระบัญชีหรือกองทุนประกันวินาศภัยโดยตรง ในส่วนของรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่เป็นฝ่ายผิด ให้ไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย

กรณีที่ 2 กรณีที่รถของผู้เอาประกันภัยกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เป็นฝ่ายถูก

ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์ฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นฝ่ายถูก เสมือนไม่มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน

“สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอย้ำว่าการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน หรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น ๆ หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมอย่างแน่นอน” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวปิดท้าย

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon