การเมืองสหรัฐฯ กับความเป็นอิสระของเฟด

97

ประธานาธิบดีทรัมป์เผชิญมรสุมทางการเมืองรอบใหม่ หลังอดีตที่ปรึกษาสองคนอาจจะต้องโทษจำคุก และจุดสนใจมุ่งไปที่การสอบสวนคดีที่รัสเซียอาจมีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559 โดยทรัมป์กล่าวว่าการสอบสวนเป็น “การล่าแม่มด” เรามองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นคลื่นแทรกทางการเมืองระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้การเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ พรรครีพับลิกันสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียเสียงข้างมากซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 23 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และถ้าหากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งกลางเทอม ศักยภาพของทรัมป์ในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ จะถูกจำกัด หรือแม้กระทั่งอาจเปิดทางไปสู่การเรียกร้องให้มีการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้สมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันยังคงสนับสนุนทรัมป์ต่อไป และถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ทรัมป์อาจสามารถพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นโอกาสด้วยการเรียกคะแนนความเห็นใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็เป็นได้

กลับมาที่กรณีทรัมป์ตำหนินายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทรัมป์มองว่าเฟดควรช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเพิ่มต้นทุนทางการเงิน ขณะที่นายพาวเวลล์ได้แสดงให้เห็นว่าเฟดจะไม่ยอมสูญเสียความเป็นอิสระและจะยังคงเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ เฟดกำลังทำงานในแนวทางใหม่โดยการตัดสินใจตามข้อมูลเศรษฐกิจจริงและลดการพึ่งพาแบบจำลอง แม้ตัวแปรทางทฤษฎีเคยมีอิทธิพลต่อทิศทางการทำงานของเฟดในอดีต แต่พาวเวลล์เชื่อว่าตัวแปรดังกล่าวอาจส่งสัญญาณชี้นำที่ผิดพลาด ทั้งนี้ เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เทียบกับการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา

จากสองประเด็นข้างต้น การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากระยะก่อนหน้า โดยสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนและธันวาคม 2561 อยู่ที่ราว 95% และ 60% ตามลำดับ ปฏิกิริยาของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนต่อปมการเมืองครั้งใหม่ของทรัมป์หรือการกดดันเฟดจึงสะท้อนออกมาเป็นการขายดอลลาร์เพื่อทำกำไร หลังจากค่าเงินดอลลาร์ทะยานขึ้นนับตั้งแต่ต้นไตรมาสสอง (กราฟด้านล่าง)

ขณะที่นักลงทุนรับรู้ข่าวเชิงบวกของวัฎจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการอัดฉีดทางด้านการคลัง และข่าวเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยสงครามการค้ามากพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ดี กระแสเงินทุนซึ่งไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยมีแนวโน้มผันผวนและอาจขาดความต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ อาทิ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทิศทางขาขึ้นของดอกเบี้ยโลก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี และการเจรจา Brexit

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)