KBANKอัพเป้าจีดีพี 61 – ศก.ครึ่งหลังชะลอตัว

94

มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังมีอัตราการเติบโตในระดับสูง แม้แนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มชะลอตัว โดยนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจของไทย(จีดีพี) ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จากเดิมที่คาดการณืไว้ที่ 4.5% ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ยังคงเป้าการส่งออกของไทยในปี 2561 ไว้ที่ 8.8% ขณะที่การนำเข้าปรับเพิ่มเป็นเติบโต 16.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 12.5% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ยังคงที่ 1.1% การบริโภคเอกชนคงที่ระดับ 3.5% การลงทุนภาครัฐปรับลดลงจาก 8% เหลือ 6% ในส่วนของแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2561 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 ผ่อนแรงลง ตามปัจจัยฐานของการส่งออก และประเด็นเฉพาะในเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ. ภูเก็ต ประกอบกับ การเร่งตัวขึ้นของการนำเข้าสินค้าตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรซึ่งจะช่วยประคองกำลังซื้อฐานรากไว้ได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 ขยายตัวที่ 4.4% ผ่อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ที่ 4.8%

สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจในปี 2562 มองว่าจะมีโจทย์และความท้ายทายมากขึ้น โดยประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์ความท้าทายในปีหน้าทั้งประเด็นต่อเนื่องจากปีนี้ในเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยในปีหน้า ตลอดจนประเด็นเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังจะยังสร้างความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะเจอโจทย์ภายในประเทศจากวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของไทย รวมถึงมาตรการคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจและครัวเรือนผ่อนแรงลง อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งจะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐจะยังเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป