EPCO ปูพรมผลงานปีนี้ – ปีหน้า วิ่งนิวไฮ กางแผนลงทุน-ประมูลงานใหม่เพียบ

151

มิติหุ้น – EPCO ลั่นปีหน้างบนิวไฮต่อจากปีนี้ ตามกำลังผลิตไฟเพิ่ม – โรงพิมพ์ใหม่บุ๊คเต็มปี ทุ่มงบ 700 ล้านบาท แตกไลน์ธุรกิจแพคเก็จจิ้ง พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นเพิ่มเติม คงแผนดัน “EP” เข้าเทรดตลาดหุ้นปลายปีหน้า หวังนำเงินทุนต่อยอดธุรกิจ มีแผนร่วมชิงดำโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. อยู่ระหว่างรอรัฐเวียดนามไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม 100 MW ได้ข้อสรุป Q1/62

ผู้สื่อข่าว ”มิติหุ้น”รายงานว่า บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก หรือEPCO โดย นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ  เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจผลการดำเนินงานปีหน้าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีนี้ โดยมีแรงหนุนจาก 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ โรงพิมพ์ และ โรงไฟฟ้า

โดยธุรกิจโรงพิมพ์ ขณะนี้ได้เข้าลงทุน บริษัท อับบลิวพีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (WPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์ มูลค่าลงทุน  407 ล้านบาท โดยเริ่มรับรู้รายได้จาก WPSในช่วงไตรมาส 4/2561 แต่คาดว่าปี 2562 รับรู้รายได้ ราว 500 ล้านบาท ขณะที่โรงพิมพ์เดิมสามารถสร้างรายได้ราว 500ล้านบาทต่อปี

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ในปีหน้าบริษัทฯ จะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก 131 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ ที่คาดจะ COD ได้ในเดือนก.ค.62 และจะ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 21 เมกะวัตต์ ที่คาดจะ COD ได้ในเดือนต.ค.62 ส่งผลทำให้ในปีหน้า บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตโดยรวมที่ 555 เมกะวัตต์ จากปีนี้คาดอยู่ที่ 424 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเวียดนาม EPCO ถือหุ้นในสัดส่วน 65%, บมจ.คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น (CSS) ถือหุ้น 25% ส่วนที่เหลือ 10% เป็นพันธมิตรในเวียดนาม

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม จากรัฐบาลเวียดนาม กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 1/62 และคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าร่วงหน้า (PPA) ในช่วงปลายปี 62 โดยจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 63 เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี อีกทั้งบริษัทฯ ก็มีความสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าทางหน่วยงานภาครัฐน่าจะออกประกาศ TOR ได้เร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ยังได้ขยายไลน์ธุรกิจไปยังแพคเก็จจิ้ง ได้แก่ กล่องลูกฟูก มูลค่าลงทุน 200 ล้านบาท เบื้องต้นคาดติดตั้งเครื่องจักรพร้อมเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในครึ่งปีแรก และจะรับรู้รายได้เข้ามาในครึ่งปีหลังทันที ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อปีราว 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีออเดอร์รองรับแล้ว

ทั้งนี้ ได้วางงบลงทุนรวมไว้ที่ 700 ล้านบาท แบ่งเป็น 200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตกล่องลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานช่วงต้นปี 62 และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนก.ค.62 และเริ่มรับรู้รายได้ทันที คาดว่าจะมีรายได้ในปีแรกราว 200 ล้านบาท และที่เหลืออีก 500 ล้านบาท จะใช้ในการขยายโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่อง

ส่วนการนำบริษัทย่อย หรือ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET)  ยังคงแผนดังกล่าวไว้ดังเดิม โดยคาดจะเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงปลายปีหน้า และคาดจะสามารถยื่นไฟลิ่งในช่วงเดือนพ.ค.62 โดยให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน(FA) โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วน จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า

www.mitihoon.com