สัญญาณเตือนภัยล่าสุดจาก US Yield Curve

54

             เราเคยพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เส้นอัตราผลตอบแทนแบบพลิกกลับ นั่นคือ ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น หรือ Yield Curve Inversion ซึ่งในอดีตมักสามารถทำนายภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำ โดยในครั้งนั้น เราได้หยิบยกกรณีที่อัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปีลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนระยะ 2 ปี วันนี้เราจะมาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปี ลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนระยะ 3 เดือน ซึ่งหากพิจารณาจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สัญญาณจาก Yield Curve Inversion จะเตือนภัยได้อย่างถูกต้อง

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มปรับตัวลดลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลังประเภท 3 เดือน ในวันที่ 22 มีนาคม (กราฟด้านล่าง) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2550 ตามมาด้วยวิกฤติการเงินโลกซึ่งเริ่มต้นขึ้นช่วงไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน โดยภาวะ Yield Curve inversion ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรายงานข้อมูลดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.บ่งชี้ว่าทั้งภาคการผลิตและภาคบริการอ่อนแอลง
นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของอัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปี ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาณที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ได้นำเงินที่ได้จากตราสารที่ครบกำหนดไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นตามที่ตลาดคาดไว้ แต่อาจนำเงินไป Reinvest ในตราสารระยะยาวตามเดิมอีกด้วย

หลังการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.สิ้นสุดลง เฟดประกาศแผนยุติการปรับลดขนาดงบดุลภายในเดือนก.ย. โดยจะหยุดโครงการปัจจุบันที่ปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง(Mortgage-backed Securities) ในงบดุลของเฟดลดขนาดลงราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน การลดขนาดงบดุลนี้เป็นการทวนเข็มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ในช่วงวิกฤติ

ประเด็นอื่นจากการประชุมของเฟด มีการระบุถึงแนวโน้มที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดหุ้นน่าจะตอบรับในเชิงบวก แต่ปรากฎว่านักลงทุนกลับวิตกมากขึ้นว่าการหดแคบลงของส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาวสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเผชิญความยากลำบาก

                 เป็นที่ทราบกันดีว่า เฟดให้ความสำคัญกับค่าส่วนต่างระหว่างตั๋วเงินคลังประเภทอายุ 3 เดือน และพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภท 10 ปี เนื่องจากความเคลื่อนไหวในอดีตมีความสอดคล้องมากที่สุดต่อการส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com