GUNKUL ลั่น!กำไรทุกไตรมาส ลุยผลิตไฟฟ้า700MW (28/05/62)

202

มิติหุ้น – GUNKUL การันตี กำไรโตทุกไตรมาส รายได้พุ่งทะลุ 8 พันล้านบาท เดินหน้าขยายลงทุนโรงไฟฟ้า เป้าปีนี้มีกำลังผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ขณะที่งาน EPC ฉลุย ตุน Backlog กว่า 7 พันล้านบาท แถมมือขึ้น! คว้าเพิ่มงานสายสื่อสารลงดินอีก 5.1 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GULKUL ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้า โดยนางสาวโศภชา ดำรุงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร เผยว่า มั่นใจว่าปี 62 รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% หรือแตะ 8,000 ล้านบาท และกำไรเติบโตทุกไตรมาส

เป้ารายได้ 8 พันล. – ผลิตไฟ 700 MW

เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ รวมโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 600 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 40 เมกะวัตต์จากโครงการโซลาร์ฟาร์มคิมิตสึ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีกำลังการผลิตที่ COD เป็น 400 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในปี 62 บริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 700 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม ขนาดกำลังผลิตราว 50 เมกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปการลงทุนเดือน ก.ค.62 ส่วนโซลาร์ฟาร์มที่มาเลเซียที่ มีแผนจะลงทุนเพิ่ม ขนาดกำลังผลิตราว 30 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูล รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ตามแผน PDP 2018

คว้างานสายสื่อสารลงทุน 5.1 พันล.

ล่าสุด บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้างให้กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง GUNKUL และบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) (ถือหุ้นโดย บจก.กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์) ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับพื้นที่ 3 มูลค่างานรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,142  ล้านบาท ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร โดยบริษัทฯ ยังเดินหน้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างใหม่ ๆ เพื่อผลักดันให้รายได้และกำไรเติบโตตามเป้าหมาย รวมถึงช่วยหนุน Backlog เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีกว่า 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญางานรับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าระบบ 115 KV ที่ อ.หาดใหญ่ มูลค่า 180 ล้านบาท และเตรียมเข้าประมูลในช่วงที่เหลือของปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท คาดจะได้งานเข้ามาขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท