สัญญาณเตือนภัยจากตลาดบอนด์ เมื่อ Trade War กลายเป็น Tech War

160

คอลัมน์กรุงศรีทอล์ก 
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สัญญาณเตือนภัยจากตลาดบอนด์ เมื่อ Trade War กลายเป็น Tech War

ขณะที่ข้อพิพาททางการค้ากับจีนยังไร้ข้อตกลงและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากสงครามการค้า (Trade War) ยกระดับสู่ สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รุกคืบสนามรบทางการค้าด้านชายแดนใต้ของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 5% จากสินค้าทั้งหมดที่มาจากเม็กซิโก โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน และจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนกว่าจะถึงระดับ 25% ในวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อเป็นการกดดันเม็กซิโกให้จัดการกับการลักลอบเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้าต่างๆ ซึ่งต่างจากสถานการณ์เมื่อปี 2561 ซึ่งสกุลเงินตลาดเกิดใหม่เผชิญแรงขายจากประเด็น Trade War อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยถ่วงค่าเงินดอลลาร์มาจากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางความเสี่ยงจากการค้าโลก โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่ามีโอกาสเกิน 50% ที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมนโยบายในวันที่ 30-31 กรกฎาคม เทียบกับความน่าจะเป็นที่ราว 18% เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี และ 2 ปี ดิ่งลง 34 bps และ 37 bps ตามลำดับในเดือนพฤษภาคม(กราฟด้านล่าง)

ยิ่งไปกว่านั้น นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์โหวตในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ระบุว่าการลดดอกเบี้ย “อาจจะมีความจำเป็นในเร็วๆ นี้” ขณะที่สัญญาณจากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกำลังฟ้องว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงอย่างไม่เหมาะสม

ในภาวะเช่นนี้ แม้ว่าเราจะประเมินว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า แต่เราเชื่อว่านักลงทุนจะมีแรงจูงใจในการลดการถือครองเงินดอลลาร์มากเป็นพิเศษ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ เห็นได้จากการร่วงลงลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยผลสำรวจว่าภาคการผลิตชะลอตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ภาคธุรกิจวิตกในเรื่องความพยายามของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับท่าทีความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญๆ โดยอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะกระทบผลกำไรภาคเอกชนและทำให้สินค้าสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันแพงขึ้นในที่สุด