IMF ปรับ GDP โลกปี 2019/2020 เหลือ 3.0%/3.4% ชี้การฟื้นตัวเปราะบางจากผลกระทบสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

297
·       กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 ลงจากเดิม 3.2% เหลือ 3.0% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008-2009 จากผลกระทบของสงครามการค้า

·       IMF มองว่า เศรษฐกิจโลกปี 2020 จะขยายตัวได้ 3.4% แต่การฟื้นตัวอาจไม่ทั่วถึง ยังคงเปราะบาง และมีความเสี่ยงสูงที่จะต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ นอกจากนั้น การฟื้นตัวยังมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ที่มีฐานต่ำเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก

จากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น อีไอซียังคงมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ยังคงเปราะบาง และยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2019 และ 2020 ที่ 2.8%

  • Key points

IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2019 อยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2008 และมองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะฟื้นตัวเฉพาะกลุ่ม และการฟื้นตัวมีความเปราะบาง (precarious recovery) ในรายงาน IMF WEO เดือนตุลาคม ปี 2019 ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2019 อยู่ที่ 3.0% (จากเดิม 3.2%) (รูปที่ 1) โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
หดตัวในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงินปี 2008-2009 นอกจากนี้ สงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit เสถียรภาพทางการเมืองในหลายประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาวะการส่งออกและการลงทุนโลก รวมถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจหดตัวต่อเนื่อง

สำหรับปี 2020 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวอยู่ที่ 3.4% (จากเดิม 3.5%) โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากปี 2019 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยฐานต่ำของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่เติบโตชะลอลงหรือเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคไปแล้วในปี 2019 ได้แก่ ตุรกี, อาเจนติน่า, เวเนซูเอล่าและอิหร่าน เป็นต้น และปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะกลับมาทยอยฟื้นตัวในปี 2020 โดย IMF คาดว่าการเติบโตของปริมาณการค้าโลกปี 2019 จะอยู่ที่ 1.1% และปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% อีกทั้งเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศทั่วโลกจะได้รับอานิสงค์จากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี หากความเสี่ยงหลักในปี 2019 ทวีความรุนแรงและส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 2020 ยังมีโอกาสที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าการคาดการณ์ได้

เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีทิศทางเติบโตชะลอลง (synchronized slowdown) จากผลกระทบของสงครามการค้า แต่ในปี 2020 แม้มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่อัตราการขยายตัวไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) และประเทศกำลังพัฒนา (EM) ความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้นในปี 2019 เช่น สหรัฐฯ-จีน, สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ฯลฯ และปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit ได้สร้างความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและการค้าเป็นวงกว้าง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศ DM และกลุ่มประเทศ EM เติบโตชะลอลงต่ำกว่าการเติบโตในปี 2017-2018 โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีโดยตรงและคาดว่าอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลไปยังภาคการค้าของทั้งสองประเทศต่อเนื่องในปี 2020 โดย IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2019 อยู่ที่ 2.4% และปี 2020 ชะลอลงอยู่ที่ 2.1% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยูโรโซนก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการค้าที่ชะลอลงเช่นกัน คาดเติบโต 1.2% และ 1.4% ในปี 2019 และ 2020

โดยเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามปริมาณการค้าโลกที่ฟื้นตัว ร่วมกับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นมาตรการการคลังในหลายประเทศสมาชิก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอลงจากผลกระทบสงครามการค้าและผลกระทบหลังการขึ้นภาษีผู้บริโภค คาดเติบโต 0.9% และ 0.5% ในปี 2019 และ 2020 ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM ในปี 2019 และ 2020 จะเติบโตทรงตัวอยู่ที่ราว 1.7% สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจ EM อย่างเศรษฐกิจอินเดีย ในปี 2019 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของมาตรการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจที่ส่งผลให้เกิดการชะลอการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนดังกล่าวมีแนวโน้มหายไปในปี 2020 ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากอานิสงค์ของการลดภาษีนิติบุคคล คาดเติบโตราว 6.1% และ 7.0% ในปี 2019 และ 2020 สำหรับเศรษฐกิจจีน ยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าแม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังมีส่วนประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดเติบโตอยู่ที่ราว 6.1% และ 5.8% ในปี 2019 และ 2020 ตามลำดับ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจ EM ซึ่งหลายประเทศกำลังประสบภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรวมถึงภาวะถดถอยทางเทคนิคมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปี 2020 ตามการฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลกและปัจจัยฐานต่ำจากปี 2019 ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM ในปี 2019 และ 2020 จะเติบโต 3.9% และ 4.6% ตามลำดับ

IMF ชี้ความเสี่ยงต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงสูง นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจากความขัดแย้งด้านการค้าและปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นในหลายประเด็นและกระจายตัวในหลายภูมิภาคทั่วโลก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แม้ธนาคารกลางหลายประเทศยังมีช่องว่างในการผ่อนคลายนโยบายในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องเร่งประสานนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากในอนาคตขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (policy space) โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยอาจพบข้อจำกัดในระยะต่อไปจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำยาวนาน นอกจากนี้ IMF ชี้ในระยะกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่สูงขึ้นทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์หลายประเด็นที่อาจกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและมีแนวโน้มยืดเยื้อ การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะลดอัตราการเติบโตของผลิตภาพและประสิทธิภาพการผลิตและจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปได้

Implication

เศรษฐกิจโลกในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว ในขณะที่ภาคบริการเริ่มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเชิงโนยบายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่พัฒนาสู่สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงิน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในอุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคการผลิตโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปี 2018 และเริ่มหดตัวหลังจากมาตรการกีดกันการค้าทวีความรุนแรงในหลายภูมิภาคตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ในขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการโลกก็เริ่มชะลอลงเช่นเดียวกัน (รูปที่ 2) ในขณะที่ภาคบริการแม้ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนี PMI ที่อยู่เหนือเกณฑ์ขยายตัวที่ 50 แต่ก็ยังอยู่ในแนวโน้มที่ชะลอลงต่อเนื่อง และอาจมีความเสี่ยงชะลอลงจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะการหดตัวดังเช่นภาคการผลิตและภาคการค้าสินค้าโลกในระยะต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานในเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่งและยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคครัวเรือนได้

มุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะการหดตัวภาคการส่งออก ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและกระจายตัวมากขึ้น อีไอซีจึงยังคงประมาณการการติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2019 และ 2020 ที่ 2.8% อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2019 ในเดือนตุลาคมล่าสุดอยู่ที่ 2.8% และประมาณการมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 2.5% (รูปที่ 4) สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยและผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางทั้ง การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน สำหรับปี 2020 อีไอซีคาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2019 ที่ 2.8% ตามภาคส่งออกที่มีทิศทางทรงตัว ซึ่งหากพิจารณากลุ่มประเทศที่ IMF มองว่าจะมีการฟื้นตัว จะพบว่าไม่ใช่ตลาดส่งออกสำคัญของไทย (รูปที่ 1 ด้านล่าง) ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง และคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.2% โดยมีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะไม่มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเพิ่มเติมจากปี 2019 อย่างไรก็ดี หากภาวะสงครามการค้าทวีความรุนแรงเพิ่มมากกว่าคาดก็อาจทำให้การส่งออกของไทยกลับมาหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงต่ำกว่าที่ 2.8% ด้านนโยบายการเงิน อีไอซีคาด กนง. ยังมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหนึ่งครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2019 สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ตลอดปี 2020 เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ ส่วนค่าเงินบาทยังมีทิศทางทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่องจากปลายปี 2019 โดยอยู่ในช่วง 30-31

www.mitihoon.com