ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฉุดความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

627

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 20 เมษายน 2563

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 18-23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 25-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 เม.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัว หลังรัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และประเทศในทวีปยุโรป ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียเองยังประกาศลดราคาขายน้ำมัน (Official selling price) ของตนเองลงต่อเนื่อง ทั้งยังประกาศว่าการลดกำลังการผลิตจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ส่งผลให้อาจมีอุปทานน้ำมันดิบในระดับสูงจากซาอุฯ ที่จะเข้ามาในตลาดในเดือนดังกล่าว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่า 6 แสนคน จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่บางประเทศขยายระยะเวลาการปิดเมืองไปจนถึงต้นเดือน พ.ค. 63 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลทำให้การขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมบางประเภทต้องหยุดชะงัก
  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจลดลงถึง 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และลดลง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลัง 187 ประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 3% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 63 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3%
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการผลิต ตามความต้องการใช้น้ำมันที่หดตัว
  • ตลาดคาดว่าข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกราว 19.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะยังไม่เพียงพอในเดือน เม.ย. 63 เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ลดลงราว 30%
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวลดลงราว 194,000 บาร์เรลต่อวัน ลงมาแตะระดับที่ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 และมีแนวโน้มปรับลดลงอีก 183,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 63 เนื่องจากสภาวะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ
  • ซาอุดิอาระเบียประกาศลดราคาน้ำมันอย่างเป็นทางการ (Official Selling Price: OSP) ของเดือน พ.ค. 63 สำหรับน้ำมันดิบทุกชนิดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ราคาประกาศ OSP ของน้ำมันดิบชนิด Arab Extra Light ส่งมอบในเอเซียอยู่ที่ -7.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากระดับ -3.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือน เม.ย. 63 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันดิบในภูมิภาคที่ลดลง
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการยูโรโซน เดือน เม.ย. 63 และรายงานจำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 เม.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 18.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 28.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 20.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังรัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่ล้นตลาด เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงมาก แม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรได้บรรลุข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 63 ถึงเดือน มิ.ย. 63 จากนั้นจะปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 ไปจนถึงสิ้นปี และจะปรับลด 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 64 ไปจนถึงเดือน เม.ย. 65 ในการประชุมฉุกเฉินของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 63 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

www.mitihoon.com