ม.มหิดล พร้อมปรับตัวสู่ New Normal รับเปิดเทอม-ต้อนรับน​ศ.ใหม่ด้วยระบบออนไลน์ 100%

458

มิติหุ้น – ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนสู่ New Normal โดยทุ่มเททุกทรัพยากรที่มีเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ และประสบการณ์ที่ดีจากมหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ในภาคการศึกษานี้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เรียนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด 100% ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 – 6 จะมีการเรียนแบบผสมผสาน ทั้งผ่านระบบออนไลน์ และแบ่งกลุ่มเข้าชั้นเรียนเพื่อรักษาระยะห่าง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้เรียน ผู้สอน และบุคลากร”

“ก่อนเปิดภาคเรียน มหาวิทยาลัยมหิดลได้เตรียมความพร้อมอบรมพัฒนาผู้สอนออนไลน์ในรูปแบบ “Train the Trainer” เพื่อเพิ่มคุณภาพของการเรียนให้ได้มาตรฐาน จัดการสอนในรูปแบบ Blended Learning หรือการเรียนแบบผสมผสานจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน ตลอดจน Flipped Classroom ที่ปรับเปลี่ยนการบรรยายสู่รูปแบบออนไลน์ และเน้นการฝึกแก้โจทย์ปัญหา การประยุกต์ใช้จริงในห้องเรียน และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Flexible Education และจัดทำระบบ Credit Bank หรือระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อตอบสนองและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาแอปพลิเคชัน We Mahidol” เพื่ออำนวยความสะดวกนักศึกษาอย่างครบวงจร โดยสามารถใช้เป็น Virtual Student ID แทนบัตรนักศึกษา มีการเชื่อมต่อลงทะเบียน ตารางสอน ตารางสอบ ใช้เช็คอิน-เช็คเอาท์ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสามารถออกจากระบบอัตโนมัติได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ตลอดจนมีบริการออนไลน์ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ได้มีการให้ทุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา ได้แก่ ทุน Covid – 19 ทุนละ 5,000 บาท ให้ไปแล้วในภาคการศึกษาที่ผ่านมาเกือบ 800 ทุน และได้มีการจัดสรรเพิ่มเติมอีก 1,000 ทุนในภาคการศึกษานี้ นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาผู้ขาดแคลนในวงเงิน 10 ล้านบาท เงินยืมปลอดดอกเบี้ยอีกรายละ 5,000 บาท ตลอดจนได้มีประกาศลดค่าธรรมเนียมการศึกษา และยกเว้นค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต พร้อมทั้งมอบอินเตอร์เน็ตแพคเกจเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ฟรีทุกเครือข่าย มอบส่วนลดค่า device และรับบริจาคคอมพิวเตอร์จากศิษย์เก่าอีกด้วย”

“เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้รูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม เช่น กิจกรรมปฐมนิเทศได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นแบบผสมผสาน โดยมีทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมแบบปกติ และแบบออนไลน์ หรือกิจกรรมรับน้องก็จะมีการเลื่อนไปจัดในภาคการศึกษาที่ 2/2563 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเรามีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาใหม่ทุกท่านได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำ welcome package ซึ่งประกอบไปด้วยการ์ดแสดงความยินดีจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และรุ่นพี่จากคณะต่างๆ พร้อมโบว์ไท/เนคไท เข็มกลัด และเข็มขัด ส่งถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน เพื่อเป็นการต้อนรับนักศึกษาใหม่ทุกคนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว

ในส่วนของคณะ/สถาบันได้มีการสนองรับนโยบายต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเต็มที่ ซึ่งในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีฯ เปิดเผยว่า “คณะฯ ได้มีการปรับเปลี่ยน infrastructure ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และแบบผสมผสาน ทั้งในด้านระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่วิทยาเขตศาลายา และพญาไท รวมทั้งสิ้น 77 ห้องเรียนในเบื้องต้น และจะมีการพัฒนาระบบตามแนวคิด “UI-UX” User Interface – User Experience โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มความสะดวกในการใช้งานและประสบการณ์ผู้ใช้”

“สำหรับการทำ Lab ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ บางส่วนทำออนไลน์ได้ บางส่วนจำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการจริง โดยจะมีการแบ่งรอบการปฏิบัติเพื่อเว้นระยะห่าง ทั้งนี้ เชื่อว่าคณะฯ จะสามารถคงคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนเพื่อเป็นต้นแบบทางการศึกษาในรูปแบบใหม่ได้ต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ชื่อของวิทยาลัยฯ มีคำว่า “เทคโนโลยี” เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ดังนั้น New Normal จึงเป็นโอกาสสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนการออนไลน์ กับการทำเวิร์คช็อปที่แบ่งเป็นรอบๆ เพื่อเว้นระยะห่าง โดยมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ให้นักศึกษาปลอดภัย และได้ความรู้จากสื่อที่เราพยายามสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

“เช่นเดียวกับการให้บริการทางด้าน Healthy Recreation หรือการบริการด้านกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งได้มีการเปิดให้บริการกีฬาที่มีการสัมผัสน้อยก่อน เช่น เทนนิส และแบดมินตัน และเริ่มให้บริการสระว่ายน้ำที่เปิดใช้บริการแบบลู่เว้นลู่ จำกัดจำนวนผู้ว่าย และให้ใช้เฉพาะช่วงกลางวัน รวมถึงการให้บริการฟิตเนสที่ต้องผ่านระบบการจองล่วงหน้า สแกนบาร์โค้ดเช็คอิน-เช็คเอาท์ การคัดกรอง และจำกัดจำนวนผู้เล่นและเวลาเล่น และในส่วนของลู่วิ่งและสนามกรีฑาสงวนสิทธิ์ใช้สนามสำหรับนักศึกษาและบุคลากรเท่านั้น จำกัดการให้บริการ 50 คน (1 คน/ชม.) เปิดให้บริการวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 16.30 – 18.30 น. (จันทร์ – ศุกร์)” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ กล่าว

มาที่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า “ในช่วงวิกฤต Covid-19 MUIC จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อการเข้าถึงกันระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งในการนี้ เรามี Facebook เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนออนไลน์แบบใหม่ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่กับอาจารย์ รวมทั้งมีการเปิด Official Line Account @myMUIC ให้นักศึกษาสามารถที่จะสอบถามข้อข้องใจต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนมีการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ อาทิ Webex, Zoom หรือ Google Hangouts เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบทางไกลตามความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่กำหนดในแต่ละชั้นเรียน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยน mindset ให้เปิดรับสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์ในระยะยาว โดยไม่ได้ทำเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงวิกฤต Covid-19 เท่านั้น”

“New Normal จริงๆ ก็คือ วิถีใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติ หลังจากการเกิดวิกฤต ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้กันแล้วว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะผ่านวิกฤตนั้นได้ แต่หลังจากที่เรากลับมาใช้ชีวิตปกติ เราจะต้องมีการพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปด้วย” รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com