มุมมองบล.ทิสโก้ ภายหลังครม. อนุมัติการการปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs (ภายใต้วงเงินเดิม)

151

มิติหุ้น-บล.ทิสโก้ระบุว่า จากเมื่อวานนี้(18ส.ค.63)คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติทบทวนมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ดังนี้

  • 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Gurantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan วงเงินโครงการรวม 57,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มค้ำประกันปีที่ 3 ระยะเวลาการค้ำสูงสุดไม่เกิน 8 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ทั้งนี้ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30

  • 2) การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท (ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 24 มี.ค. 2020 และธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อให้ประชาชนไปแล้วราว 1 พันล้านบาท ณ วันที่ 10 ส.ค. 2020)

    • 2.1) จัดสรรวงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก โดยจะให้สินเชื่อ 50,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน และเพิ่มระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

    • 2.2) จัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply chain โดยจะให้สินเชื่อ 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

  • 3) การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 วงเงิน 80,000 ล้านบาท (ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 7 เม.ย. 2020 และธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ไปแล้วราว 6 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 10 ส.ค. 2020 )

    • 3.1) จัดสรรวงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง

    • 3.2) จัดสรรวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป

    • 3.3) ปรับวงเงินค้ำประกันต่อรายของ บสย. จากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน

  • 4) การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 วงเงิน 10,000 ล้านบาท (ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 24 มี.ค. 2020 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นนิติบุคคลไปแล้วราว 4 ร้อยล้านบาท ณ วันที่ 10 ส.ค. 2020)

    • 4.1) ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

  • 5) การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน (ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 24 ก.ค. 2018 และโครงการได้ได้สิ้นสุดไปแล้วในวันที่ 23 ก.ค. 2020 แต่ยังมีวงเงินค้ำประกันคงเหลืออีกราว 2.5 พันล้านบาท จึงขยายเวลาในการดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2020)

  • Our take: มาตรการดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่มาตรการใหม่ในการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นการปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs (ภายใต้วงเงินเดิม) เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส ที่กำหนดให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันไม่เกิน 30% “เพิ่มเติม” จากที่กระทรวงการคลังค้ำประกันไปแล้ว 60-70% ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่เกิด NPLs โดยล่าสุด ณ วันที่ 10 ส.ค. 2020  เงินกู้จาก พ.ร.ก. Soft Loan ถูกใช้ไปแล้ว 111,921 ล้านบาท (หรือราว 22% ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท)

www.mitihoon.com