KTC ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรคืนชีพ ดันกำไรQ3พุ่ง1.3พันล. (16/09/63)

142

มิติหุ้น-KTC เผยผลงานไตรมาส 3/63 โตฉลุย คาดกำไรสุทธิแตะ 1.3 พันล้านบาท หลังการใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มฟื้นตัว แถมอัตราการผิดนัดชำระลดลงและการเก็บหนี้ดีขึ้น คาด NPLลดลงเหลือ 4-5% จากไตรมาสก่อน 6.6% ลุยขยาย“สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์”เต็มสูบ แนะนำ “ซื้อ”เป้าหมาย 37 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ทำธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อบุคคล (Personal loan) โดย “บล.ทิสโก้” เปิดเผยว่า แนวโน้มผลงานไตรมาส 3/63 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากอัตราการผิดนัดชำระที่ลดลง และการเก็บหนี้ที่ดีขึ้น, การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเริ่มกลับมาเป็นปกติ หนุนโดยกลุ่มประกันและความงาม และคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 4-5% หลังการตัดจำหน่ายเพิ่มเร็วขึ้นเป็น 6 เดือน จากเดิมที่ 12 เดือน (ในช่วงครึ่งปีแรกมี NPL ที่ 6.6%) ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 34.50 บาท

คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น

“บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” เปิดเผยว่า คาดคุณภาพสินทรัพย์ของ KTC จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากแตะจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ซึ่ง KTC ได้ใช้เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บที่ลดลง ฝ่ายวิจัยชอบ KTC ตรงที่มีงบดุลแข็งแกร่งและตั้งสำรองหนี้สูญที่สูง

โดยในช่วงเดือน ส.ค.63 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกลับเข้าสู่ระดับทรงตัว จากที่ผ่านมาลดลง โดยได้รับแรงหนุนจาก ธุรกิจประกันภัย, การใช้จ่ายออนไลน์และการจัดส่งอาหาร ด้านหนี้สูญได้รับคืนและการก่อตัวของ NPL ใหม่ดีขึ้นในไตรมาส 3/63 โดย KTC จะเร่งตัดหนี้สูญให้เร็วขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทต่อไตรมาส จากเพียง 300 ล้านบาทในครึ่งปีแรกหลังจากที่ผู้สอบบัญชีอนุญาตให้บริษัทตัดหนี้สูญภายใน 6 เดือนจาก 24 เดือนก่อนหน้านี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่าต้นทุนสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ NPL Ratio จะลดลงเหลือ 4-5% (6.6% ในไตรมาส 2/63 ) และ NPL Coverage จะดีขึ้นเป็น 180-200% (จาก 157% ในไตรมาส 2/63 ) ในครึ่งปีหลัง 63

เร่งขยายสินเชื่อทะเบียนรถยนต์

ส่วน  “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์” ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อยังมีขนาดเล็กต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดย KTC อยู่ระหว่างการขยายพอร์ตสินเชื่อ โดยนำเสนอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ผ่าน KTB 20 สาขาและช่องทางตัวแทน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 8,000 บาทต่อเดือนเทียบกับ 15,000 บาทสำหรับบัตรเครดิต คิดอัตราดอกเบี้ย 19-21% ต่อปีในขณะที่สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันขึ้นอยู่กับคุณภาพของหลักประกัน แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 37 บาท

ด้าน “นายชุติเดช ชยุติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน KTC เปิดเผยว่า ปี 63 คาดสินเชื่อส่วนบุคคลจะเติบโต10% เพราะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 28% มาที่ 25%  ส่วน “ธุรกิจบัตรเครดิต” อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่เคยางไว้เติบโต 4-5% เพราะยอดใช้จ่ายในกลุ่มท่องเที่ยวหายไป แต่ยังได้กลุ่มความงามเข้ามาชดเชย

ล่าสุดช่วง  6 เดือนแรก มีพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 52,242 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 62 ที่ 56,914 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 30,244 ล้านบาท จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 28,933 ล้านบาท

www.mitihoon.com