COVID-19 กดดันเศรษฐกิจต่อเนื่อง จับตาประชุม FOMC  

72

การระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากต่อวันในหลายประเทศที่ตอนนี้กลับมาเป็นปัจจัยกังวลต่อเศรษฐกิจอีกครั้ง อีกทั้งการพัฒนาวัคซีนแม้ว่าจะมีข่าวดีอย่างต่อเนื่อง  แต่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเปิดประเทศได้ช้าขึ้นและกระทบต่อธุรกิจต่างๆมากขึ้น รวมทั้งประเทศที่อยู่กับประเทศไทยอย่างอินโดนิเซียและพม่า ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตามองในระยะต่อจากนี้ไป

สำหรับประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้ นอกจากการระบาดของ COVID-19 และข่าวการพัฒนาวัคซีนแล้ว  คือ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งเรื่องสำคัญคือ ทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023 หากมีการปรับเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ย อาจเห็นแรงขายปรับพอร์ตของนักลงทุนตราสารหนี้ในตลาดเพิ่มเติม  KTBST SEC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะส่งสัญญาณให้การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของนโยบายการคลังพร้อมทั้งคงดอกเบี้ยต่อไปอีก 1 – 2 ปี

นอกจากนี้จะมีการรายตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องจับตามอง คือ ตัวเลขยอดค้าปลีกของประเทศต่างๆ รวมทั้งของสหรัฐอเมริกาจะมีการรายงานในวันที่ 16 กันยายน และตัวเลขยอดขายรถยนต์หากมีการฟื้นตัวจะเป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง

อีกเรื่องคือการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน  (OPEC+) ในวันที่17 ก.ย.นี้ คาดว่ามีผลออกไปในทางลบจากความต้องการบริโภคที่ลดลงกว่าที่คาดไว้ หากที่ประชุมมีการลดกำลังการผลิตอาจเป็นผลลบหุ้นน้ำมันและปิโตรเคมี

ส่วนประเทศไทยตลาดหุ้นปรับตัวลงหลุดระดับ 1,300 จุด สวนทางกลับตลาดอื่น เนื่องจากปัจจัยกดดันในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังที่ยังไม่มี , การชุมนุมทางการเมืองและการแก้รัฐธรรมนูญ  ซึ่งคาดว่าจะกดดันตลาดต่อไปอีกระยะ ขณะที่มาตรการเศรษฐกิจที่ออกมายังไม่ได้เป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างแท้จริง  การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้จึงแนะนำนักลงทุนชะลอการลงทุนถือเงินสดรอดูสถานการณ์ คาดว่าดัชนี SET Index มีโอกาสลงไปได้ถึงระดับ 1,250 จุด

สำหรับการลงทุน ภาพรวมแล้ว KTBST SEC ยังแนะนำเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งสหรัฐฯช่วงปลายปี รวมทั้งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แม้ว่าจะมีแรงขายกำไรออกมา แต่มองว่าการปรับฐานของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนจากปัจจัยบวก หลักๆ ได้แก่  1.) การสั่งซื้อสินค้าและการจัดโปรโมชั่นของสหรัฐฯในช่วงไตรมาส 4  ที่จะส่งผลให้ผลประกอบการในช่วงสิ้นปีมีการเติบโต  2.)  การเติบโตจากผู้บริโภคหลังการระบาดของ COVID-19 ยังมีอยู่  และ ปัจจัยสุดท้ายคือความคาดหวังของนักลงทุนในไตรมาสที่ 3 – 4  เรื่องรายงานผลประกอบการที่คาดว่าออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

KTBST SEC ยังให้น้ำหนักตลาดหุ้นยุโรป รวมทั้งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อย่าง ตราสารหนี้เอกชนที่มีช่วงอายุ 3-5 ปี ด้วยมุมมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า  รวมถึงทองคำ ที่ยังให้มีไว้ในพอร์ต แม้ว่าความน่าสนใจจะเริ่มลดลงหลังดอลลาร์ปรับตัวขึ้น  ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้”  https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php

โดยชาตรี  โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC)

www.mitihoon.com