“คปภ.- ส.ประกันวินาศภัยไทย” เดินสายสร้างความเข้าใจ แนวทางปฎิบัติคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

294

“คปภ.- สมาคมประกันวินาศภัยไทย” เดินสายสร้างความเข้าใจแนวทางปฎิบัติคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่) เผยหลังบังคับใช้คำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 ข้อพิพาทด้านการประกันภัยรถยนต์ทั่วประเทศ “ช่วงเมษายน-กันยายน 2563” ลดลงเกือบ 50%

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา 5 ภาค เรื่อง คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ครั้งที่ 1 (ภาคกลาง) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแนวทางการปฏิบัติให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ระหว่างสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดข้อโต้แย้งอันจะนำไปสู่ข้อพิพาท รวมถึงเพื่อลดข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัย และปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารประกอบเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวเป็นการแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ใช้มาตั้งแต่ ปี 2551 จึงถือได้ว่าเป็นการบูรณาการประกันภัยรถยนต์อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน และสภาพความเสี่ยงภัยที่แท้จริง

โดยเฉพาะในเรื่องการปรับเพิ่มความคุ้มครอง เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนมีหลักประกันความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองในหมวดการคุ้มครองต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งภายหลังจากคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 มีผลใช้บังคับ ปรากฏว่า จำนวนข้อพิพาทหรือข้อร้องเรียนด้านประกันวินาศภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยรถยนต์ทั่วประเทศ ที่ยื่นต่อสำนักงาน คปภ. ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนเมษายน 2563 มีเรื่องร้องเรียนที่ยื่นมาที่สำนักงาน คปภ. จำนวน 1,093 เรื่อง และลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในเดือนกันยายน 2563 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงเหลือเพียง 574 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 47.48

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้มีคำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 346/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 496/2562 แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563

อีกทั้งเพื่อเป็นการอธิบายแนวทางการปฏิบัติให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ชัดเจน ครบถ้วน และลดข้อโต้แย้งอันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับภาคธุรกิจประกันวินาศภัย รวมถึงเพื่อลดข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัย และปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย

“การปรับปรุงแก้ไขคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ได้มุ่งเน้นให้มีคำอธิบายในรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ชัดเจน ครบถ้วน เพื่อป้องกันการตีความที่แตกต่างกัน รวมถึงเพื่อเป็นการลดข้อโต้แย้งอันอาจเกิดจากการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับภาคธุรกิจประกันวินาศภัย หรือระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย

ตลอดจนดำเนินการให้การจัดการค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับนี้ จึงเป็นเสมือนกรอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการด้านการจัดการสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยของไทยให้มากยิ่งขึ้น และให้พัฒนาไปสู่ระดับมาตรฐานสากล รวมถึงให้สามารถใช้เป็นคู่มือของประชาชนได้อย่างแท้จริง”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย