รักปอนด์ปอนด์

542

จากหัวข้อบทความนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเดาได้ว่าผู้เขียนเป็นวัยรุ่นยุค 90 อีกทั้งเห็นว่าน่าจะยังไม่สายเกินไปสำหรับการอ้างอิงถึงเทศกาลแห่งความรักที่มีหลากหลายรูปแบบ วิถีของเงินปอนด์สเตอร์ลิงก็เช่นกัน หลังจากเผชิญมรสุมเคลื่อนไหวผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากประเด็น Brexit ที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 4 ปีครึ่งภายหลังผลประชามติช็อกโลก การแพร่ระบาดรุนแรงของ COVID-19 มาตรการปิดเมืองหลายรอบและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 เงินปอนด์กลายเป็นสกุลเงินในกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ปรับตัวโดดเด่นตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปี เหนือ 1.3900 ดอลลาร์ต่อปอนด์ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินปอนด์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตรา 2.0% จากสิ้นปี 2563 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าอันดับสองรองจากเงินโครนของนอร์เวย์ (กราฟด้านล่าง)

 

ปัจจัยหนุนค่าเงินปอนด์ นอกเหนือจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในภาพใหญ่แล้ว จะพบว่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนความคลุมเครือของ Brexit ที่ลดลงหลังจากสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ก่อนวันคริสต์มาส โดยข้อตกลงทางการค้าลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะปั่นป่วนหลังการแยกตัวเมื่อวันที่ 1 มกราคม นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วใน UK ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น เพิ่มความหวังต่อการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคมนี้ โดยรัฐบาล UK สามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน 15 ล้านคนภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรือคิดเป็นกว่า 22% ของจำนวนประชากร

 

สภาวะแวดล้อมที่ปรับตัวไปในทิศทางที่สดใสขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.1% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ 8.95 แสนล้านปอนด์ในการประชุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยระบุถึงการเตรียมการที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบหากจำเป็นในอนาคต แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือบีโออีกล่าวด้วยว่าระยะเวลาที่อาจดำเนินนโยบายดังกล่าวคือเดือนสิงหาคมเป็นอย่างเร็ว ท่าทีเช่นนี้บ่งชี้ว่าการใช้ดอกเบี้ยติดลบมีความเป็นไปได้น้อยลงมาก โดยในอีก 6 เดือนข้างหน้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นและอาจไม่ต้องการมาตรการกระตุ้นที่เข้มข้น ขณะที่ตลาดลดการคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างมีนัยสำคัญ เราคาดว่าค่าเงินปอนด์มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้คือข้อขัดแย้งระหว่าง UK และ EU ในประเด็นการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างไอร์แลนด์เหนือและส่วนที่เหลือของ UK เป็นสำคัญ

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 www.mitihoon.com