ก.ล.ต. เข้าร่วมการประชุม EU-Asia Financial Services Dialogue ในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก

31

มิติหุ้น – ก.ล.ต. เข้าร่วมการประชุม EU-Asia Financial Services Dialogue ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดย ASIFMA และ Afore Consulting เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ท้าทาย รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานกำหนดนโยบาย และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนและผู้ประกอบธุรกิจจากทั้งภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมการประชุม EU-Asia Financial Services Dialogue ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดย Asia Securities Industry & Financial Markets Association (ASIFMA) และ Afore Consulting เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นความท้าทายต่อการพัฒนาตลาดทุน รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานกำหนดนโยบาย และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IOSCO, European Commission (EC), European Securities and Markets Authority (ESMA) รวมทั้ง ภาคเอกชนและผู้ประกอบธุรกิจจากทั้งภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำถึงประเด็นสำคัญในการกล่าวเปิดประชุม EU-Asia Financial Services Dialogue ว่า “ถึงแม้ว่าผู้คนทั่วโลกจะเริ่มได้รับวัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ดี ยังต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย (1) วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลวางรากฐานเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) วัคซีนเศรษฐกิจระดับธุรกิจ ที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง มีความยืดหยุ่นด้านการดำเนินงาน และมีธรรมาภิบาล และ (3) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล เพื่อให้เกิดการออมที่เพียงพอสำหรับการเกษียณ

 รวมถึงได้เน้น 4 ประเด็นหลักที่หน่วยงานต่าง ๆ และภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (technology) การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซี (digital assets and crypto currencies) การส่งเสริมเครื่องมือทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable finance) รวมทั้ง ได้เน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของตลาดทุนที่ได้ช่วยสนับสนุนตั้งแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

ในระยะยาว (the roles of capital markets)”

 นอกจากนี้ Mr. Sean Berrigan, Director General, DG FISMA, European Commission และ Mr. Ashley Alder, IOSCO Board Chair ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะผู้บรรยายสำคัญ (keynote speaker) โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญ

ในประเด็นที่สอดคล้องกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งด้านการเงินที่ยั่งยืนและการเงินดิจิทัล ซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน

เพื่อยกระดับความสอดคล้องกันระหว่างกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงระหว่างภูมิภาค เพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป