รายงาน : แบงก์ชาติจ่อปรับเกณฑ์ AMC หุ้นไหนรับผลบวกเด่นสุด (27/11/64)

2580

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) กำลังเป็นที่สนใจของตลาด พบมีผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหลายราย ให้ความสนใจเตรียมตบเท้าเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

ด้วยธุรกิจนี้เป็นการเข้าซื้อหนี้เสีย ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินทรัพย์ที่ถูกยึดมาจากสถาบันการเงิน ด้วยจำนวนเงินไม่มาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และนำมาปรับปรุงเพื่อขายต่อในราคาที่สูงขึ้น หรือกลับมาเก็บเงินสดเต็มจำนวนจากลูกหนี้ที่ซื้อมา ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้อนตัวดี ทำให้ได้ส่วนต่างกำไรเป็นกอบเป็นกำ

ล่าสุด ธปท. หรือแบงก์ชาติ มีแผนที่จะแก้กฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้กล่มธุรกิจ AMCs สามารถให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐบาล และเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ และร่างแก้กฏหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจจัดเก็บหนี้ เนื่องจากจะทำให้อุปทานจาก SFIs (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ออกสู่ตลาดมากขึ้น … ว่ากันให้เข้าใจง่าย ก็คือจะเปิดทางให้ AMC สามารถรับจ้างทวงหนี้จากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธ.ก.ส., ธ.ออมสิน, ธอส. และ SME BANK ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ในมุมของ บล.กสิกรไทย ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายและเรื่องใบอนุญาตเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวก มากกว่าเชิงลบต่อ AMC คาดว่าร่างแก้กฎหมายใหม่จะอนุญาตให้ AMC ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขยายธุรกิจจัดเก็บหนี้ไปยังลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)

หากมองไปที่บริษัทจดทะเบียน JMT และ CHAYO จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลัก ขณะที่สินเชื่อรายย่อยทั้งหมดของ SFIs ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ที่มีหลักประกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้ BAM ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน

โดยถือเป็นผลกระทบกับหุ้นในทางบวกที่เป็น AMCs หลักๆ โดยเฉพาะ CHAYO , JMT  (นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นสะท้อนว่าจะเป็นการยากหากจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอีกด้วย) ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ รับจ้างทวงหนี้อยู่แล้ว ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มเป็นรายได้ราวๆ 10% ของรายได้รวม ของแต่ละราย

ส่วน BAM ก็มีโอกาสจะเข้ามาร่วมเล่นด้วย โดย BAM ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรในปี 2565 และการประเมินมูลค่าราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วน CHAYO โดดเด่น เนื่องจากราคาหุ้นยังมี Upside จากราคาเป้าหมายที่ให้ไว้คือ 14.80 บ.ต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม คาดอนาคตมีโอกาสที่จะขายหนี้ออกมาในอนาคตในเฟสต่อๆ ไปได้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มอง BAM เป็นหนึ่งในหุ้นไฟแนนซ์ที่มีความน่าสนใจ จากทิศทางธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และยังได้ประโยชน์จากแนวโน้ม NPL ของสถาบันการเงินที่จะทยอยสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายด้วย PBV ต่ำเพียง 1.5x ต่ำกว่าคู่แข่ง และมีUpside ราว 29.3% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2565 ที่ 24.70 บาท จึงคงคำาแนะนำ “ซื้อ

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ให้ราคาเหมาะสมของ BAM ไว้ที่ 24 บาท ส่วน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้ไว้ที่ 25 บาท

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp