‘Data Center’ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพิ่มศักยภาพ SME ไทย

392

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ Data Center เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ต้องพัฒนา เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลายเท่าตัว จากการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกิจกรรมทางธุรกิจ ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7 Zettabytes ในปี 65 เป็น 26 Zettabytes ในปี 73 หรือเพิ่มขึ้นราว 3.7 เท่าในระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า

โดยปัจจัยดังกล่าว ทำให้ความต้องการ Data Center ในการจัดเก็บและประมวลผลเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าตลาด Data Center ในไทยในปี 70 จะพุ่งสู่ระดับ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ปี 65 อยู่ที่ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  นับเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตข้างหน้า

ลุยเดินหน้าระบบData Center

ในปัจจุบันบริการของ Data Center มีรูปแบบหลักๆ อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่  1. Data Center ที่ลงทุนเอง เพื่อใช้ภายในองค์กร ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนก่อสร้างสูงถึง 936 ล้านบาท และมีพื้นที่มากถึง 40,000 ตร.ฟุต หรือประมาณ 2 ไร่ มีความจุถึง 570,000 TB สามารถรองรับผู้ใช้บริการสูงสุดได้ถึง 188,688 คน หรืออย่างน้อย 7,400 คน

อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้น ให้มีขนาดเล็กลงจากเดิมมาเป็น Micro Data Center ที่ใช้งบลงทุนเพียง 3.5 ล้านบาท หรือต้องใช้เงินลงทุนตลอดอายุการใช้งาน 10 ปี ประมาณ 3,600 ล้านบาท มีความจุถึง 2,700 TB สามารถรองรับผู้ใช้บริการสูงสุดได้ถึง 906 คน หรืออย่างน้อย 75 คน

ส่วน 2. Private Cloud เพื่อใช้ในองค์กรที่มีผู้ใช้บริการอย่างน้อย 20 คน เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้บริการต้องลงทุนในอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่น ระบบ Server และระบบปฏิบัติการเอง โดยใช้เงินลงทุนในอุปกรณ์ไอทีราว 2.6 ล้านบาท หรือต้องใช้เงินลงทุนตลอดอายุการใช้งาน 10 ปี ประมาณ 6.8 ล้านบาท ซึ่งมีความจุถึง 128 TB และรองรับผู้ใช้บริการสูงสุดที่ 53 คน

ขณะที่ 3. Public Cloud เป็นรูปแบบเปิดให้บริการกับสาธารณชน โดยผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายค่าบริการตามระยะเวลาที่กำหนด (Subscription) หรือตามการใช้จริง (Pay per use) ซึ่งค่าบริการจะอยู่ราว 2,000 – 6,500 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็นระยะเวลา 10 ปี ประมาณ 240,000 – 780,000 บาท/คน

Cloud ERP เสริมศักยภาพSME

พร้อมกันนี้ Public Cloud นั้น ยังสามารถแบ่งเป็นได้อีก 3 รูปแบบ คือ Infrastructure as a Service (IaaS) เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผู้ดูแลระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์, Platform as a Service (PaaS) เหมาะกับองค์กรที่มีผู้ทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาซอฟต์แวร์ และสุดท้าย Software as a Service (SaaS) เหมาะกับองค์กรที่ไม่มีผู้ทำหน้าที่ด้านไอที เพื่อดูแลระบบ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai Compass กล่าวว่า ธุรกิจ SME จะสามารถใช้ประโยชน์จาก “Cloud ERP” ที่เป็น Public Cloud แบบ SaaS มาเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น Cloud ERP ในส่วนระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management Module: CRM) และระบบบริหารทรัพยากรการผลิต (Material requirements planning Module) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ดังนั้นทำให้ทางต่างประเทศ มองว่าการหันมาใช้บริการ Cloud ERP จะสามารถช่วยให้ยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% ใน 3 ปีแรก รวมถึงช่วยให้ยอดขายของธุรกิจผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 13% และอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 30.2% ภายใน 3 ปีแรกของการใช้งาน”