ธ.ก.ส. เร่งพัฒนาเทคโนโลยี สร้างฐานข้อมูลภาคการเกษตร ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านการผลิต การตลาด

69

มิติหุ้น – ธ.ก.ส. นำเทคโนโลยีผนวกข้อมูลเกษตรกรลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ สร้างฐานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อใช้-บริหารจัดการด้านการผลิต การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มลดการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดและป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อต่อยอดการพัฒนาทั้งปริมาณผลผลิตและมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้หลัก BCG การสร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร รองรับการเติบโตในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น Smart Farmer, SMAEs พร้อมเติมทุนในทุกมิติเพื่อสนับสนุนการเติบโต

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่พบเกษตรกรลูกค้าผู้ปลูกดอกดาวเรือง และเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม การทำมะพร้าวบอนไซ ซึ่งเป็นสินค้าตกแต่ง และการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยภายในสวน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้เสริม ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีว่า การประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้าดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ธ.ก.ส. ยังมีข้อมูลเกษตรกรรวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นฐานข้อมูล (Database) สำคัญของภาคการเกษตร และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้รู้ว่าสินค้าเกษตรชนิดนี้ ใครผลิต อยู่ที่ไหน มีปริมาณเท่าไหร่ ผลผลิตมีมากหรือน้อยในช่วงไหน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม การทำ packaging การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น ซึ่งประโยชน์จากฐานข้อมูล จะทำให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาดลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นอกจากนี้ ในการพัฒนายังจำเป็นต้องเชื่อมโยงองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย ธ.ก.ส.จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร SMAEs Agri Tech และ Startup โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาดแบบ Digital การทำธุรกิจแบบ Mutualism รวมถึง การสร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร ร่วมกับพันธมิตรรองรับการเติบโตใหม่ (New Business) ในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น Young Smart Farmer,Smart Farmer, SMAEs เป็นต้น

นายฉัตรชัยกล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนกระบวนการผลิตทางการเกษตร ธ.ก.ส. มุ่งเน้นดำเนินการภายใต้หลัก BCG เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งด้านการผลิตและการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและบริการที่สะดวกรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยแนวทางสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund) เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปรีชา เล็นวารีย์ เกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรือง ตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เดิมปลูกพืชผักสวนครัว เช่น มะระ มะเขือ แตงกว่า และผักบุ้ง ส่งจำหน่ายตลาดริมเขื่อนโพธาราม ต่อมาปรับเปลี่ยนการผลิตมาปลูกดอกดาวเรือง พันธุ์คองโก้สลับกับพืชผักสวนครัว บนพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งดอกดาวเรืองจะมีระยะเวลาการปลูก ประมาณ 50 วัน จึงจะสามารถเก็บผลผลิต โดยนำดอกมาคัดไซส์ และส่งจำหน่ายไปยังตลาด โดยในช่วงที่มีการหาเสียงและเทศกาลเชงเม้ง ความต้องการดอกดาวเรืองในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาขายพุ่งสูงขึ้นเป็นดอกละ 1.30- 2 บาท จากปกติดอกละ 0.3 – 0.50 บาท โดยมียอดขายดอกดาวเรืองสูงถึงวันละ 3,000 – 5,000 ดอก และคาดว่าราคาดอกดาวเรืองจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ผู้คนต้องการนำดอกไม้ไปใช้ในประเพณี และกิจกรรมต่างๆ สำหรับสวนมะพร้าวน้ำหอม ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ของนายณรงค์ พูลขวัญ ซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาค่อนข้างสูง ได้คิดและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนมาใช้ภายในสวน รวมถึงส่งขายภายใต้แบรนด์

“บ้านไร่ฟาร์มไส้เดือน” ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริม สอดคล้องตามหลัก BCG Model ที่ ธ.ก.ส.มุ่งสนับสนุนอีกด้วย และในส่วนของมะพร้าวบอนไซ ของนายชำนาญ เปลี่ยนศรี เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำผลผลิตมะพร้าวที่ถูกทิ้งภายในสวน มาต่อยอดเป็นของประดับตกแต่งที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ จึงเป็นที่สนใจของตลาดไม้ดอกไม้ประดับ เพราะมีความสวยงาม คงทน โดยสามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ยต้นละ 500-700 บาทต่อต้น

 ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon