Krungsri Talks by โกลบอลมาร์เก็ตส์ : เมื่อดอกเบี้ยเฟดใกล้สิ้นสุดทางขึ้น

201

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับใกล้ 0% ในเดือนมีนาคม 2565 สู่
4.75-5.00% ในปัจจุบัน ขณะที่ความเห็นจากเจ้าหน้าที่เฟดบ่งชี้ว่าผู้ดำเนินนโยบายได้ใช้มาตรการเชิงรุกอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ เรามองว่าเส้นทางคุมเข้มทางการเงินกำลังใกล้สิ้นสุดลง ขณะที่อาการข้างเคียงของการดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของดอกเบี้ยปรากฎชัดเจนมากขึ้นผ่านความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจขนาดย่อม โดยผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าในการประชุมนโยบายวันที่ 2-3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bp เป็น 5.00-5.25%  ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 10 ติดต่อกัน ขณะที่เราเชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฎจักร แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ยังลดลงช้าและการว่างงานอยู่ในระดับต่ำมากก็ตาม

ธนาคารกลางชั้นนำของโลกระบุในแถลงการณ์ร่วมในสัปดาห์นี้ว่าจะลดความถี่ในการจัดสรรสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์กับเฟดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากที่ความผันผวนในตลาดการเงินลดลง โดยจะเปลี่ยนกลับไปใช้ความถี่เป็นรายสัปดาห์แทนการดำเนินการรายวันซึ่งเกิดขึ้นหลังการล้มละลายของ Silicon Valley Bank และการขายกิจการ Credit Suisse อย่างไรก็ดี แม้ตลาดโลกก้าวข้ามภาวะปั่นป่วนมาได้ แต่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบธนาคารได้เพิ่มความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญให้กับเฟดและจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจจริงมากขึ้นในระยะถัดไป โดยในที่สุดแล้วเฟดอาจต้องเลือกยอมรับเงินเฟ้อที่สูงเกินเป้าหมายท่ามกลางปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนทำให้เงินเฟ้อด้านต้นทุนจะไม่กลับไปต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอีกสักพักใหญ่

ในบริบทของอัตราแลกเปลี่ยน เรายืนยันมุมมองที่ว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในโทนอ่อนค่าลง ขณะที่โอกาสการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จากระดับปัจจุบันค่อนข้างจำกัดมากแล้ว (กราฟด้านล่าง) อีกทั้งความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจกำลังปูทางไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็น แม้ยังมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับจังหวะเวลาในการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปัญหาภาคการเงิน ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ใกล้ชนเพดานหนี้ยังเป็นปัจจัยรุมเร้าค่าเงินดอลลาร์อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ เช่น จีน และยุโรปกำลังได้แรงส่งเชิงบวกที่เหนือกว่าโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากวัฎจักรเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกันกับฝั่งสหรัฐฯ ในภาวะเช่นนี้ เรามั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารอังกฤษ (บีโออี) เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon