ชำแหละส่งออกไทยครึ่งปีหลัง

559

จากที่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ตัวเลขการส่งออกของไทยนั้น หดตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (YoY) และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม “นายภูสิต รัตนกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้ดำเนินการหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มสินค้าเกษตร, เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออก และแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้

ด้านผู้ประกอบการ มองว่า การส่งออกไทยปี 2566 มีโอกาสที่จะสามารถพลิกบวกได้ ประกอบกับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมสำคัญๆ เกี่ยวกับการส่งออก ที่จะดำเนินการในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อีกประมาณ 44 โครงการ เพื่อผลักดันให้การส่งออกไทยปี 2566 ขยายตัว 1-2% ตามเป้าที่ได้ตั้งไว้

ภาคเอกชน ชี้ภาพรวมส่งออกปี 66 พลิกบวก 2%

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน คาดการณ์ว่า ภาพรวมในปี 2566 มีโอกาสพลิกบวกได้ประมาณ 2 % เนื่องจาก กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ ประมง ยกเว้นมันสำปะหลัง ที่มีปัญหาผลผลิตขาดแคลนจากโรคใบด่าง และภัยแล้ง อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของส่งออกรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 3-5%

ส่วนด้าน เครื่องจักรและส่วนประกอบ คาดว่าจะเป็นบวก รวมถึงเครื่องประดับ ที่มองว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 10% และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่จะปรับตัวขึ้นประมาณ 2-3% ขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ คาดว่า ด้านส่งออกอาจจะมีตัวเลขติดลบ

กลุ่มยานยนต์- เกษตร หนุนส่งออกครึ่งหลัง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ทั้งปี 2566 ส่งออกไทยจะพลิกหดตัวที่ 1.1% YoY ที่ขยายตัว 5.7% YoY เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ รวมถึงความต้องการสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องหลังสถานการณ์อุปทานชะงักงันคลี่คลาย ประกอบกับสินค้าเกษตรและอาหารจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกพลิกขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี 2566

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น ตลอดจนสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

จากการคาดการณ์ตัวเลขส่งออกของไทยดังกล่าว ทาง “มิติหุ้น” เสาะหาเหล่าโบรกในการแนะนำหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของไทยในครึ่งหลังปี 2566 ได้แก่ กลุ่มยานยนต์, สินค้าอุตสาหกรรม และอาหาร ดังนี้

ITC ราคาต่ำ ผลงานครึ่งหลังฟื้น

บล.ดาโอ แนะ “ซื้อ” หุ้น ITC ในราคาเป้า 20 บาท เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับตัวต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 อย่างไรก็ดี คาดว่าผลงานในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ITC มีโอกาสฟื้นตัว หลังมีสัญญาณของลูกค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ เริ่มทยอยสั่งซื้อตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2566 สอดคล้องตัวเลขส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในเดือนมิถุนายน 2566 ที่กลับมาขยายตัว  ประกอบกับมีปัจจัยหนุนจากการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ในไตรมาส 3/2566

DELTA เร่งขยายกำลังผลิต

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า หุ้น DELTA เตรียมเร่งเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างโรงงานใหม่ ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ประกอบกับยังคงมีความต้องการของกลุ่ม AI เข้ามาเสริม จึงคาดว่าจะเติบโตได้ดี โดยกำไรสุทธิปี 2566 จะเติบโตขึ้น 14% และปี 2567 เติบโตขึ้น 23%

อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรี ยังคงแนะ “Reduce” ด้วยราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 86 บาท เนื่องจากราคา P/E สูงถึง 80/ 65 เท่า ซึ่งนับว่าสูงเกินไป ขณะที่ปัจจัยพื้นฐาน คาดว่า DELTA จะได้รับผลบวกจากแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากความต้องการแหล่งวัตถุดิบใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และยุโรป-จีน

GFPT หุ้นเด่นสุดในกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม

บล.เคจีไอ ประเมินหุ้น GFPT จากข้อมูลการส่งออกในไตรมาส 3/2566 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 (YoY) และเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวในตลาดหลัก ๆ อาทิ EU และญี่ปุ่น เป็นต้น ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินเยนที่มีส่วนทำให้อุปสงค์ของญี่ปุ่นลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาส 3/2566 ต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง) จะลดลง 4% YoY และ 8% QoQ ส่งผลให้ได้รับอานิสงส์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง ที่มีน้ำหนักมากกว่าราคาไก่ที่ลดลง ทําให้ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 13.5% ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เมื่อเทียบกับครึ่งหลังปี 2565 ที่ 11.1%

ทำให้ยังคงแนะนะ “ซื้อ” หุ้น GFPT ในราคาปี 2567 ที่ 16.2 บาท จากเดิม 17.7 บาท ซึ่ง GFPT ยังคงเป็นหนึ่งในหุ้นเด่นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมองว่าราคาไก่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่ออุปสงค์เริ่มนิ่ง ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon