TRC “ผู้มาก่อนกาล”  ลุยลงทุนเหมืองโพแทช

1243

มิติหุ้น-ใครเป็นเอฟซีแฟนตัวยง “TRC” มานาน ย่อมจะรู้ดีว่า TRC มุ่งมั่นกับเหมืองโปแตชมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ยุค “สมัย ลี้สกุล” ยังกุมบังเหียน ปัจจุบันแม้ว่าจะส่งไม้ต่อมอบธุรกิจให้ “ภาสิต ลี้สกุล” ลูกชายเข้ามาดูแลกิจการ  แต่ยังคงสานต่อนโยบายปลุกปั้นเหมืองโพแทชไม่คลาย

แสงสว่างปลายทางอุโมงค์เริ่มส่องแสงให้กับTRC มีแววว่าเหมืองโพแทชน่าจะได้ตัดสายรก คลอดในไม่ช้า

ภายหลังครม.ในยุคลุงตู่ หรือเมื่อต้นปีนี้เอง เคาะสนิมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเหมืองแร่โพแทช และไฟเขียวเพิ่มทุน บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด(มหาชน) หรือAPOT

APOT จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.8 หมื่นลบ. ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น พาร์ 100 บาท โดยจะเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน เงินที่ได้เพื่อไปใช้ก่อสร้างและพัฒนาเหมือง โรงแต่งแร่โพแทช ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ

TRC ประกาศจะใช้สิทธิเพิ่มทุนใน APOT ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25.13%  หรือจะต้องใช้เงิน 4.4 พันลบ. ในการนี้ TRC ระดมสรรพกำลังเร่งระดมทุนเป็นการใหญ่ ประกาศแผนเพิ่มทุนของTRC อีกจำนวน 299.59 ลบ. จาก 1.19 พันลบ. เป็น 1.49 พันลบ.

ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกจำนวน 2.39 พันล้านหุ้น พาร์ 0.125 บาท เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 479.35 ลบ. รวมถึงอนุมัติออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวมไม่เกิน 2 พันลบ. อายุ 5 ปี

“ภาสิต ลี้สกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRC กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการประยุกต์ใช้แร่โพแทชในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ราคาแร่โพแทชปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เหมืองแร่โพแทชได้รับประโยชน์จากแร่โพแทชที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับความสนใจในการเข้าลงทุนเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเพิ่มทุนในAPOT ดังกล่าว

“กรณีเพิ่มทุนในAPOT สำเร็จ จะทำให้บริษัทได้งานรับเหมาก่อสร้างซึ่งจะสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพิงรายได้จากการก่อสร้างซึ่งมีปัจจัยเรื่องความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรง นอกจากนี้ บริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมภายหลังที่APOT ดำเนินการเชิงพาณิชย์”

ทั้งนี้ APOT จัดตั้งเมื่อปี 2543 โดยTRC ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25.13% ผ่านบริษัทย่อย TRC Invest และ TRC Inter จำนวน 22.46% และ 2.67% ตามลำดับ โดยร่วมลงทุนกับกระทรวงการคลัง ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 20% และกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ในสัดส่วน 54.87% ด้วยทุนจดทะเบียน 2.94 หมื่นลบ. ทุนชำระแล้ว 2.8 พันลบ. ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่โพแทช ซึ่งยังไม่ดำเนินงานเชิงพาณิชย์

APOT ได้รับอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินจากกระทรวงอุตสาหกรรม อายุประทานบัตร 25 ปี โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตแร่โพแทช เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม 1.235 ล้านตันต่อปี เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าแร่โพแทช 7-8 แสนตันต่อปี ส่วนผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจะทำการส่งออกไปขายต่างประเทศเพื่อให้ได้รับรายได้เพิ่มขึ้นและคุ้มค่ากับการลงทุน

     “ศราวุธ เตโชชวลิต” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า ฐานะการเงินของTRC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่โครงการลงทุนเหมืองโพแทช นับว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อการเติบโตของTRCอย่างมีนัยสำคัญ  เนื่องจากหากโครงการลงทุนเหมืองโพแทช  ประโยชน์ที่TRC จะได้รับเบื้องต้นคืองานก่อสร้าง ทำให้ได้แบ็กล็อคมูลค่าโครงการขนาดใหญ่

 

ดูทรงแล้วความตั้งใจของTRC คงไม่สูญเปล่า แผนโครงการลงทุนในเหมืองแร่โพแทช น่าจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี นาทีนี้โปรดให้เกียรติเรียก TRC ว่า “ผู้มาก่อนกาล”

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon