CGS-CIMB : หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มกับปรากฏการณ์“เอลนีโญ”

47

ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า เอลนีโญน่าจะกระทบผลผลิตการเกษตรของไทยในครึ่งแรกปี 67 โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) คาดว่า“เอลนีโญ” จะอยู่ต่อเนื่องจนถึงเดือนเม.ย.-มิ.ย.67 ส่งผลให้ไทยประสบกับภัยแล้งและผลผลิตการเกษตรลดลง

อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยฯคาดว่า ผลผลิตทางการเกษตรในครึ่งแรกปีหน้า จะกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีคาดการณ์ว่าเอลนีโญจะรุนแรงสุดเดือนพ.ย.66 ถึงม.ค. 67  อีกทั้งฝนที่ตกลงมาเดือนก.ย.-พ.ย.66 ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนของไทย เพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 80% ของความจุเขื่อน และอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 61-65 ในเดือนต.ค.66

ปกติแล้วเอลนีโญจะทำให้ไทยมีอากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น และเอลนีโญอาจอยู่จนถึงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 67  จึงคาดว่าฤดูร้อนของไทยปีหน้า (มี.ค.-มิ.ย.) อุณหภูมิจะสูงกว่าปีนี้ โดยเรามองว่าสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อยอดขายเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (RTD) ในประเทศของ ICHI อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งแรกปีหน้า ICHI จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลตลาดโลกและราคา PET เรซิ่นที่สูงขึ้น น้อยกว่า SAPPE เพราะ ICHI ใช้น้ำตาลที่ผลิตในประเทศ ซึ่งรัฐบาลคุมราคา และ ICHI มีแผนลดการใช้พลาสติก/ขวด PET ในไตรมาส 1/67

ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่า ต้นทุนปลาทูน่าของ TU จะลดลงต่อเนื่องในครึ่งแรกปีหน้า โดยหอการค้าประมงของเอกวาดอร์เผยว่าทั้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา อาจมีผลต่อทิศทางราคาปลาทูน่า เพราะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของปลาทูน่า ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯพบว่าที่ผ่านมาราคาปลาทูน่า จะปรับตัวขึ้นในปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญามากกว่าปีที่เกิดเอลนีโญ

นอกจากนี้ ปริมาณปลาทูน่าที่จับได้ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.66 ยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงคาดว่าราคาปลาทูน่าจะปรับตัวลงอีกในปี 67 และ GPM ของ TU น่าจะเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในปีนี้ เป็น 17.6% ในปีหน้า

แม้เอลนีโญจะทำให้เกิดความแห้งแล้งในไทยเดือนมิ.ย. 66-มิ.ย. 67 แต่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยังคงคาดว่าผลผลิตข้าวโพดของไทยปี 66/67 จะเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยแทนปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เอลนีโญจะทำให้สถานการณ์น้ำในภูมิภาคอเมริกาใต้ดีขึ้น จึงน่าจะทำให้บราซิลและอาร์เจนตินามีผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น จะฉุดให้ราคากากถั่วเหลืองปรับลงในปี 66/67

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เป็นกลางในเดือนก.ค. 67 น่าจะยังเอื้อต่อการผลิตข้าวโพดของไทยและมีผลเล็กน้อยต่อการผลิตถั่วเหลืองในอเมริกาใต้ช่วงครึ่งหลังปีหน้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจสัตว์บกอย่าง CPF จะได้ประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงในปี 67  หนุนให้ GPM ของ CPF เพิ่มสูงขึ้นจาก 10.6% ในปีนี้ เป็น 12.3% ในปีหน้า

ฝ่ายวิจัยฯจึงปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น CPF จาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” เพราะเชื่อว่าผลประกอบการในปี 67 จะดีกว่าปี 66 อย่างไรก็ตาม ผลกำไรระยะสั้นของ CPF น่าจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากราคาสุกรที่ตกต่ำทั้งในไทยและจีนในไตรมาส 4/66  อาจฉุดให้ราคาหุ้นของ CPF ปรับตัวลงในไตรมาส 4/66 และไตรมาส 1/67

เลือก ICHI ราคาเป้าหมาย 19 บาท และ TU ราคาเป้าหมาย 17.3 บาท เป็น Top pick ในครึ่งแรกปีหน้า จากสภาวะเอลนีโญ และเลือก CPF ราคาเป้าหมาย 21.75 บาท เป็น Top pick ในครึ่งหลังปีหน้า ปัจจุบันทั้ง ICHI และ TU ซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีและมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจที่ 7.8% และ 4.7% ในปี 67 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันยังแนะนำ Neutral กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากราคาหุ้นของผู้ผลิตเครื่องดื่ม น่าจะสิ้นสุดวงจรขาขึ้นในไตรมาส 2/67โดยมองว่า upside risk ของกลุ่มนี้จะมาจากการบริโภคที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด และเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าคาด ส่วน downside risk คือการที่ประเทศที่เป็นตลาดหลักมีเศรษฐกิจถดถอย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่างฟ

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon