แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของนลท.รายย่อย?

865

ภายหลังจาก “มิติหุ้น” นำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นซีรีส์ และเกาะติดเรื่องความไม่เท่าเทียมของกลุ่มนักลงทุนรายย่อย และต่างประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำกัน ไล่ตั้งแต่ Robot Trade , HFT : High Frequency Trading, Short sell หุ้นขนาดเล็ก ไปจนถึง Naked Short ที่ถือว่าผิดเกณฑ์ตลาด รวมทั้งการอาศัยช่องโหว่เครื่องมือ NVDR ขายช็อตหุ้นนอก SET50-SET100  เดือดร้อนไปจนถึง ผู้บริหาร บจ.ที่ถูกถล่มขายหุ้นทั้งๆที่พื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ไม่เกินความเป็นจริงนักเพราะ ทุกวันนี้วอลุ่มซื้อขายหดตัวจากเคยเทรดกันวันละ 7-8 หมื่นลบ.ต่อวัน จนเหลือระดับวันละหลัก 4-5 หมื่นลบ. ดัชนีก็ลดลงต่ำกว่า 1,400 จุด เพราะนักลงทุนรายย่อยได้หดหายจากตลาดหุ้นไทยเกือบครึ่ง

ระยะเวลาการนำเสนอข่าวมาเป็นแรมปีจนมาวันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานกำกับทั้งจาก สำนักงาน ก.ล.ต.และ จากทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายหลังการว่าจ้าง ที่ปรึกษาจากต่างประเทศ “โอลิเวอร์ไวแมน” มาศึกษาถึงปัญหาต่างๆเพียง 3 เดือน และบางเคสใช้ระยะเวลาเพียง เดือนเศษก็พบปัญหาดังกล่าว….เรียกได้ว่าเหมือนเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อล่าสุด ตลท.มีแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆตามเสียงสะท้อนของนักลงทุนทั้งรายย่อย, นักลงทุนวีไอ รวมถึงผู้บริหารบจ.อาทิ มาตรการควบคุม Short sell จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7.5 พันลบ.

เพิ่มมาตรการ Uptick กับหุ้นทุกตัว

นอกจากนี้ยังเพิ่ม Uptick กับหุ้นทุกตัว โดยกำหนดให้การขายชอร์ตทุกหุ้นต้องมีราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) โดยหากราคาซื้อขายล่าสุด (Last Trading Price) อยู่ที่ Bid แรก จะสามารถส่งคำสั่งซื้อ Short Selling ต้องใช้ราคา Offer แรกหรือสูงกว่า และอีกกรณีหากราคาซื้อขายล่าสุด (Last Trading Price) อยู่ที่ Offer แรก หากจะส่งคำสั่งซื้อ Short Selling ต้องใช้ราคา Offer ลำดับที่สูงกว่า เพื่อทำให้การทำ Short Selling มีความยากขึ้น

มาตรการคุม HFT เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนระดับ Sub-Account

ขณะที่การเพิ่มการควบคุม HFT ให้สมาชิกและลูกค้าที่ใช้ HFT ต้องยื่นคำขอ และเปิดเผยข้อมูลของผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account และ Omnibus Account รวมถึง เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่สมาชิกทุกราย และหากราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติและมีความผันผวนมากได้มีการเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น โดยกำหนดความเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Celling และ Floor) ของหุ้นของผู้ลงทุนก่อนขาย

นอกจากนี้ยังมีการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสมอีกด้วยปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับคำสั่งไม่เหมาะสม โดยจะเพิ่มลักษณะของคำสั่งซื้อขายที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งในเชิงปริมาณและราคา รวมทั้งจัดทำระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม (order screening)

ซึ่งจะรวมถึงการป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไป ด้วยการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่ส่งเข้ามาก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (minimum resting time) เช่น อาจจะต้องคงไว้อย่างน้อย 0.6 วินาที เป็นต้น

 ห้าม นลท.ไทย Short sell ผ่าน NVDR

ส่วนมาตรการในส่วนของ NVDR ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญล่าสุด ก.ล.ต.ออกประกาศห้ามนลท.ไทย ทำธุรกรรม Short sell ผ่าน NVDR ส่วนด้าน ตลท.  ก็มีแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ด้วย โดยกำหนดให้บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (ในฐานะผู้ออก NVDR) จะต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ถือ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ที่มีการถือครอง NVDR และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

 

สุดท้าย “มิติหุ้น” ขอฝากอีกเรื่อง วอลุ่มเทรดแปลกๆทุกวันนี้ยังกระจุกตัวกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพียงไม่กี่กลุ่มที่ส่งวอลุ่ม Short sell กับโบรกไม่กี่ค่าย แบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลยิ่งกว่าช่วง Midnight sale ของห้างเพราะทั้งลด แลก แจก แถม ซะอีก หวังว่าทางการจะเห็นเหมือนกันและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon