Wait & See การประชุม 3 ธนาคารกลาง

121

                 สัปดาห์นี้ตลาดจะจับตาไปที่เรื่องการประชุมของ 3 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น โดยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะประชุมก่อนในวันที่ 12-13 มิ.ย. คาดว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75-2.0% ขณะเดียวกันมีการรอดูว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยว่าในปีนี้ 3 หรือ 4 ครั้ง แต่ที่น่าสนใจที่สุดนั่นคือการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แม้ว่าอาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่ที่น่าจับตาดูคือการส่งสัญญาณยุติการใช้ QE ในปลายปีนี้ เพราะหาก ECB ยุติ QE จะส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น และอาจกระแสเงินลงทุนอาจไหลเข้าตลาดยุโรป อีกครั้งได้ อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมธนาคารกลาง Fed และ BOJ ทั้งสองผ่านไปหากไม่มีการส่งสัญญาณในทางลบต่อตลาด KTBST คาดว่า นักลงทุนจะกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้ง

                   ส่วนการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 15 มิถุนายน คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1%เท่ากับอัตราในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ทาง BOJ อาจจะมีการปรับประมาณการ GDP ปี 2018 ลง หลังจากตัวเลข Private investment ออกมาหดตัวราว -0.6% YoY อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือการเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ น่าจะยังดำเนินต่อและมีความคืบหน้าผลการประชุม G-7 ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดลดลง จากนี้ คงต้องรอดูว่า หากสหรัฐฯสามารถบรรลุการเจรจากับประเทศใดได้ จะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น

                   ดังนั้นภาพการลงทุนตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ตลอดทั้งสัปดาห์คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เพราะนักลงทุนรอดูผลการประชุมของทั้ง 3 ธนาคารกลางอยู่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก ส่วนปัจจัยในประเทศเรื่องการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. ปี 62  รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรตลาด ที่ยังถือว่าในอยู่ในระดับที่ดี จึงคาดว่าโอกาสที่ดัชนีจะหลุดระดับ 1,710 จุดยังมีไม่มาก  ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนในเวลานี้ จึงเป็นในลักษณะ “Wait & see” หรือเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกสนับสนุน เช่น หุ้นที่ได้รับผลบวกจากการเลือกตั้ง อย่าง KBANK, WHA, AMATA, STEC, SEAFCO 

                  เชื่อว่าตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปตลาดน่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นนอกเหนือจากการประชุมธนาคารกลาง ยังมีเรื่องการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯและเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ในเรื่องความคืบหน้าการเจรจาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งถ้าหากการเจรจาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จะเป็นบวกต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงโลก

โดย ชาตรี  โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)

www.mitihoon.com