แรงขายยังมีต่อ รอดัชนียืนได้

99

ดูเหมือนสัปดาห์นี้ การลงทุนจะร้อนแรงและมีความรุนแรงพอสมควรเลยนะครับ ด้วยปัจจัยลบที่มีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นที่เร็วและมีผลต่อตลาดเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยด้วย  ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่จบได้กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน 1,102 รายการ วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญฯ ในทันที จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 659 รายการ ในวงเงินเดียวกัน และสหรัฐฯยังมีแผนจะเรียกเก็บภาษีจากจีนอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะกระทบต่อ GDP ของจีนราว 3.5% ของ GDP ทั้งหมดนั่นเป็นการเพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุนให้มากขึ้นไปอีกและอาจกระทบไปถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หากยืดเยื้อไปมากกว่านี้

 

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้แรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดเอเชียจะยังหนาแน่นต่อไปจากความกังวลต่างๆ ในเวลานี้ ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ตลาดหุ้นไทยวันทำการแรกของสัปดาห์นี้ ปรับตัวลงอย่างหนักปิดตลาดลดลง 25.14 จุด หรือ -1.47% ดัชนีหลุดที่ระดับ 1,700 จุดมาปิดที่ 1,679.68 จุด  หลักๆ มาจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลงหนักหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงเนื่องจากการคาดการณ์ว่า ในการประชุมโอเปค วันที่  22 มิ.ย. ให้ที่จะให้เพิ่มกำลังการผลิตชั่วคราวเพื่อรองรับการผลิตที่หายไปจากตลาดในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเป็น ลบสั้นๆ ต่อราคาน้ำมัน

 

ดังนั้น ในระยะนี้ควรลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มน้ำมัน-ปิโตรเคมี พร้อมกับลดน้ำหนักในหุ้นที่มีข่าวลบและรอจังหวะลงทุนในช่วงที่ตลาดเริ่มยืนได้

 

KTBST ประเมินว่า ด้วยทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ ถือเป็นแรงกดดันให้ตลาดในภูมิภาคอื่นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย โดยการประชุมณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 มิ.ย. คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% แต่จะเริ่มมีการส่งสัญญาณถึงการปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงหลังของปี KTBST คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงสิ้นปีนี้

 

ดังนั้น การลงทุนในช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังกันนะครับ การเข้าลงทุนควรรอให้ดัชนียืนได้ แนวรับสำคัญที่ระดับ 1,670 และ 1,655 จุด ตามลำดับ หุ้นที่อาจจะเป็นจังหวะเข้าลงทุนได้เมื่อราคาย่อตัวได้แก่ หุ้นกลุ่ม Domestic play อย่างเช่น  KBANK , ADVANC , ANAN , LH …

โดยชาตรี  โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)

www.mitihoon.com