ลูกหนี้ตัดพ้อการช่วยเหลือไม่มีจริง ร้องแบงก์ขอพักชำระหนี้สุดหิน

1413

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง ลูกหนี้ธนาคารกลายเป็นผู้ว่างงานตบเท้าขอเข้าโครงการพักชำระหนี้กันอื้อ แต่กลับติดเงื่อนไขคุมเข้ม จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งร่วมกันให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างจริงใจ

ลูกหนี้สินเชื่อขอพักชำระหนี้ไม่ง่าย

ขณะที่แต่ละธนาคารได้มีมาตรการช่วยประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกหนี้ เพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ การขอพักชำระหนี้ ทั้งในส่วนของสินเชื่อบ้าน รถ และบัตรเครดิต ซึ่งแต่ละธนาคารมีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่มีมาตรการดังกล่าวออกมาไม่นาน กลับมีเสียงสะท้อนจากบรรดาลูกหนี้ที่ต้องตกงาน จากคำสั่ง Lock Down ของรัฐ ทั้งการปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ต่อเนื่องมาจนถึงการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารต่างๆ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลพบว่า แต่ละธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือทั้งลูกค้าสินเชื่อประเภทต่างๆ ออกมากันอย่างถ้วนหน้า แต่ในแง่ของการขอรับบริการกลับไม่ง่ายและเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย เช่น บางธนาคารต้องรวบรวมเอกสารจำนวนมาก ต้องมีการเซ็นค้ำประกันจากเจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบ บางธนาคารกำหนดให้ลูกหนี้หยุดชำระเงินต้นได้ แต่ยังต้องชำระส่วนของดอกเบี้ย โดยอัตราคงอยู่เท่าเดิม อีกทั้งยังให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนด้วยว่า การหยุดพักชำระเงินต้นอาจมีผลกระทบให้ประวัติการชำระของลูกหนี้มีปัญหาขึ้นในข้อมูลเครดิตบูโร เหล่านี้เป็นต้น

ส่องมาตราการธนาคารกรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลของ 3 ธนาคารหลัก พบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ :สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต ผ่อนผันให้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ตามยอดเรียกเก็บไม่เกิน 3 รอบบัญชี, ปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้าง, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติ 50% ไม่เกินเดือนธ.ค. 2564 และยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ

ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ผ่อนผันให้ปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน, ปรับยอดผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% ไม่เกิน 24 เดือน, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ระยะเวลาหนึ่ง ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด ทั้งนี้จะพิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี

ธนาคารไทยพาณิชย์เงื่อนไขเข้ม

สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน โดยตลอดระยะเวลาที่เข้าโครงการ จะไม่ต้องชำระยอดเงินต้น ส่วนการชำระยอดดอกเบี้ยนั้น ตามแต่ตกลง ณ วันเข้าโครงการ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาพักชำระ จะต้องผ่อนชำระตามปกติ และดอกเบี้ยค้างชำระที่เกิดขึ้นระหว่างที่เข้าร่วมโครงการจะถูกนำมาเฉลี่ยในค่างวดถัดๆ ไปที่ผ่อนชำระ

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ : พักชำระค่างวด สูงสุด 6 เดือน ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ จะไม่ต้องชำระค่างวด เมื่อสิ้นสุดการพักชำระ จะต้องชำระค่างวดตามปกติ โดยระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาจะขยายออกไปตามระยะเวลาการพักชำระ

สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และ Speedy Cash : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน ตลอดระยะเวลาพักชำระยอดที่ต้องจ่าย ไม่ต้องชำระทั้งยอดเงินต้นและดอกเบี้ย โดยไม่มีผลค้างชำระ แต่ระบบยังคงคำนวณดอกเบี้ยตามปกติ เมื่อสิ้นสุดเวลาตามกำหนดพักชำระ จะต้องชำระยอดเงินทั้งหมด รวมทั้งดอกเบี้ยตามยอดชําระเต็มจํานวน หรือชําระยอดขั้นตํ่าที่เคยชําระอยู่ เพื่อรักษาสถานะบัตรให้เป็นปกติ

สินเชื่อบุคคล Speedy loan : พักชำระเงินต้น สูงสุด 6 เดือน ตลอดระยะเวลาที่เข้าโครงการ จะไม่ต้องชำระยอดเงินต้น ส่วนการชำระยอดดอกเบี้ยนั้น ตามแต่ตกลง ณ วันเข้าโครงการ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาพักชำระ จะต้องผ่อนชำระตามปกติ และดอกเบี้ยค้างชำระที่เกิดขึ้นระหว่างที่เข้าร่วมโครงการจะถูกนำมาเฉลี่ยในค่างวดถัด ๆ ไปที่ผ่อนชำระ

โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้ คือ สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ 1 ครั้ง แต่หากกรณีที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ธนาคารจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ธนาคารอาจขยายเวลามาตรการเพิ่มมากขึ้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะมีการทบทวนเป็นระยะ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นอาจพิจารณาขยายระยะเวลาความช่วยเหลือออกไป และถ้าไม่ตกงาน แต่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อขอพิจารณาเข้าโครงการได้ ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่ได้รับและปัจจัยแวดล้อมที่ลูกค้าอาจต้องแสดงให้ธนาคารทราบ

ธนาคารกสิกรไทยย้ำเป็นรายกรณี

สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยอื่นที่มีหลักประกัน ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล กำหนด​​ทางเลือกที่ 1 : ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นรายกรณี ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2563 ทางเลือกที่ 2 : แปลงหนี้เดิมทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นสินเชื่อใหม่ และพิจารณาให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน เป็นรายกรณี

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ : ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 60% ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาการผ่อนสูงสุด 7 เดือน โดยรวมสัญญาล่าสุดต้องไม่เกิน 7 ปี

หลากความเห็นลูกหนี้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” ได้เข้าสำรวจเพจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบมีความคิดเห็นของประชาชน เช่น “ไปยื่นขอผ่อนผันชำระหนี้กับไฟแนนซ์บอกไม่เข้าเกณฑ์ ผ่อนไม่ไหว ก็จงร่วมใจกันคืนรถให้กับไฟแนนซ์ไป”  

“มาตราการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินล่าช้าเพราะมีผู้ทำเรื่องเยอะ ควรมีการผ่อนปรนเอกสารเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายและเร็วขึ้น . . ลดเอกสารลง เพราะคนที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวกับมาตรการ lock down รวมถึงโรงแรม ทัวร์ ยิ่งไม่ต้องไปขอเอกสารอะไรเยอะเลย เพราะก็เป็นลูกค้าเก่า มี record ถ้ามีความจริงใจช่วยเหลือ ควรเร่ง process หลายธุรกิจ แสดงความจำนงค์ไปตั้งแต่ กพ. แต่ สิ้นมี.ค. ยังต้องชำระก้อนเงินเท่าเดิม”

“ควรลดดอกเบี้ยเงินกู้และบัตรเครดิต และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ bank และ non bank. จากประมาณ 20-28% ต่อปีไม่ควรเกิน 5 % ต่อปี ก็พอ. (กฎหมายเดิมไม่เกิน. 18%). กำไร 700-800% ของต้นทุน (1-2%++) ค้ากำไรเกินควร. ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี. และต้นทุนทางการเงินก็ลดลงแล้ว ตัวอย่าง. ธอส และ ธกส และ สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 5-6% ต่อปี ยังกำไรมหาศาล”

www.mitihoon.com