วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

312

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (16 เม.ย.63)

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการผลิต ตามความต้องการใช้น้ำมันที่หดตัว

– สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจลดลงถึง 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และลดลง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  หลัง 187 ประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 3% จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งสวนทางการกับคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 63 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3%

– ตลาดยังมีความกังวลต่ออุปทานที่ล้นตลาดจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง แม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 63 แล้วก็ตาม

ราคาน้ำมันเบนซิน-ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินยังคงถูกกดดันจากการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก

ราคาน้ำมันดีเซล-ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก หลังอินเดียและมาเลเซียขยายระยะเวลาในการปิดเมืองไปจนถึงต้นเดือน พ.ค. 63 เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์