วิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำข้อกังขาเอกภาพของยูโรโซน

193

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรจะหดตัวลง 7.5% ในปีนี้ขณะที่คาดว่าจีดีพีสหรัฐฯ จะลดลง 5.9% เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งกระทบกิจกรรมและการจ้างงานในวงกว้าง ประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับบริบทความเป็นปึกแผ่นของยูโรโซนกลับมาอีกครั้งหลังศาลสูงสุดของเยอรมันตัดสินว่าธนาคารกลางเยอรมัน (บุนเดสแบงค์) ต้องหยุดซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้โครงการของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภายใน 3 เดือนข้างหน้า ยกเว้นเสียแต่ว่าอีซีบีจะแสดงให้เห็นว่า โครงการซื้อพันธบัตรมีความจำเป็น เป็นที่คาดการณ์กันว่าอีซีบีจะไม่ยอมจำนนต่อการเรียกร้องให้ต้องพิสูจน์ความสำคัญของโครงการดังกล่าว ซึ่งหากทำเช่นนั้นจะถูกมองว่าความเป็นอิสระของอีซีบีถูกแทรกแซงและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันจากชาติสมาชิกอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน ประเทศตอนใต้ของยูโรโซนที่มีฐานะทางการคลังอ่อนแอหรือกลุ่ม PIIGS ซึ่งประกอบด้วย โปรตุเกส, อิตาลี, ไอร์แลนด์, กรีซ และสเปน ประสบวิกฤตหนี้สาธารณะ โดยในครั้งนั้นปรากฎข้อขัดแย้งมากมายในการแก้ปัญหาร่วมกันกับประเทศที่มั่งคั่งและวินัยสูงกว่า นำมาซึ่งข้อกังขาอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มยูโรโซน

 

ในยุควิกฤต COVID-19 เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินยูโรอ่อนค่าลงไม่มากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินอาจพบกับความท้าทายมากขึ้นในระยะนี้จากความไม่แน่นอนที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะที่หนี้ภาครัฐและยอดขาดดุลงบประมาณจะพุ่งขึ้นอย่างมากเพื่อพยุงเศรษฐกิจรวมถึงการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีกับเยอรมันสูงมากขึ้น(กราฟด้านล่าง) สะท้อนค่าความเสี่ยงที่สูงขึ้นระหว่างประเทศแกนหลัก (Core) กับประเทศชายขอบ (Periphery) แม้อีซีบีได้พยายามเข้ามาสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดตราสารหนี้กลุ่มประเทศชายขอบเพื่อประคองความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้วก็ตาม

 

ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เรามองว่าเงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เนื่องจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระดับบาซูก้าเพื่อลดทอนแรงกระเพื่อมจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส โดยเฟดได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบด้วยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินทำให้งบดุลของเฟดขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขนาดงบดุลของเฟดอยู่ที่ 6.72 ล้านล้านดอลลาร์ พุ่งขึ้นถึง 61% จากสิ้นปี 2562 ขณะที่งบดุลของอีซีบีและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อยู่ที่ 5.85 ล้านล้านดอลลาร์ และ 5.78 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตรา 12% และ 11% ตามลำดับ

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihon.com