5 จี…พระเอกตัวจริง!

626

หากจัดอันดับวิกฤติของมวลมนุษยชาติแล้ว ปี 2563 น่าจะถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของวิกฤตแห่งมวลมนุษยชาติอันดับต้นๆ เพราะไม่เคยมีครั้งใดเลยที่เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้ การเดินทาง และการท่องเที่ยวที่เคยเป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก วันนี้ต้องสะดุดหยุดลงไปโดยสิ้นเชิง

 

แม้หลายประเทศจะมีความพยายามเปิดประเทศ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุน แต่ก็เป็นไปอย่างกะท่อนกะแท่น หลายประเทศต้องกลับมาล็อคดาวน์อีกหนเมื่อไวรัสสูบนรก “โควิด-19” ตามหลอกหลอนมวลมนุษยชาติไม่หยุดหย่อน และยังคงพัฒนาความร้ายกาจเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ

 

สำหรับประเทศไทยเรา แม้จะสามารถยืนหยัดสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างได้ผลมาร่วมปี จนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศ แต่สุดท้ายกลับต้องพ่ายขบวนการแรงงานเถื่อนที่ฝังรากลึกหากินอยู่บนแผ่นดินไทย ก่อให้เกิดการอุบัติใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยต้องหวนกลับไปเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตกันอีกครั้ง

 

และหากจะย้อนรอยภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขวบปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายจึงยอมรับว่าปีนี้เป็นปีทีประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ยิ่งกับเศรษฐกิจไทยด้วยแล้ว แม้ประสบผลสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของ “เชื้อไวรัสสูบนรกโควิด-19” มาอย่างได้ผล

 

แต่ในส่วนของเศรษฐกิจนั้นกลับทรุดหนักถึงขั้นติดลบ มีการประเมินจะมีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ ภาคธุรกิจและบริการนับหมื่นหรือเรือนแสนต้องปิดตัวลง ผู้คนอาจจะต้องตกงานเป็น 8 ล้าน ถึง 10 ล้านคนนับจากนี้

 

ยังโชคดีที่ในช่วงต้นปี 2563 ก่อนวิกฤตไวรัส โควิด-19 จะมาเยือนนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในยุคที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กสทช.ประสบผลสำเร็จในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ใน 3 คลื่นหลัก คือ คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz), 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) จนสามารถดึงเงินรายได้เข้ารัฐกว่า 100,521 ล้านบาท ลบคำสบประมาทก่อนหน้าที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าไม่น่าจะไปรอดได้

 

และกลับกลายเป็นว่า คลื่น 5 จีนั้น ไม่เพียงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้าได้เท่านั้น หากยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศสามารถรับมือกับการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผลอีกด้วย เพราะหลังการประมูลคลื่น 5 จีผ่านพ้นไป ค่ายมือถือต่างๆ โหมลงทุนเครือข่าย 5 จี เพื่อหวังจะเป็นกลไกสำคัญของการช่วงชิงลูกค้าตลาดมือถือและเป็นปัจจัยในการกระตุ้น Contents ใหม่ ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเพิ่มกำลังคลื่นให้แรงขึ้นประชาชนได้ติดต่อสื่อสารและทำงานอยู่กับบ้านหรือเวิร์ก ฟอร์ม โฮมได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

ดังนั้น ผลพลอยได้ของคลื่นทั้ง 5 จี และ 4 จี ไม่เพียงจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด คลื่น 5 จียังมีส่วนในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงขวบปีที่ผ่าน และน่าจะถือเป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ว่าได้

 

เพราะในขณะที่เศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศต้องเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 จนแทบจะไปไม่เป็น แม้รัฐบาลจะงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง หรือจะวัดครึ่งกรรมการครึ่งอะไรก็ตามแต่

 

แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้นก็ล้วนต้อง “ถลุงเม็ดเงินของรัฐออกไปเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน” กลายเป็น “อัฐยายซื้อขนมยาย” แรงกระเพื่อมหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย และเป็นเพียงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเท่านั้น หาได้สร้างความยั่งยืนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง

 

จะมีก็เพียงตลาดโทรคมนาคม 4 จี และ 5 จี อันเป็นผลพวงมาจากการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตของ กสทช.ก่อนหน้าเท่านั้น ที่น่าจะถือว่า เป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและบริการใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

 

ยิ่งในส่วนของการสร้างสรรค์ตลาดและสร้างเศรษฐกิจ SME รูปแบบใหม่บนโลกโซเชียลนั้น บางคนแค่เกาะติดชีวิตหมาแมว นำเสนอมุมมองชีวิตความเป็นอยู่แบบรายวัน ก็สามารถสร้างรายได้สร้างผลงานออกมาได้แล้ว บางคนแค่เอามือถือ 4 จี หรือ 5 จี ไปถ่ายทำชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนรอบข้างแบบอีสานบ้านทุ่ง ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับตัวเองได้แล้ว หรือบางคนนั้นกลายเป็นไลฟ์โคช – ขายของออนไลน์ เปิดตลาดการค้าไปสู่ตลาดอินเตอร์โดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงและผลงานความสำเร็จของการนำคลื่น 5 จี มาเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง

 

น่าเสียดาย แม้ประเทศไทยจะสามารถเปิดให้บริการ 5 จี ในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนประเทศอื่นใดในภูมิภาคนี้ แต่การต่อยอด 5 จีในวงกว้างที่ยังคงต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ว่าโอกาสเปิดให้แก่ผู้คนได้ในวงกว้างอยู่เสมอนั้น ยังไปไม่ถึงไหน หากกลไกของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง

 

หนทางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ยังจะไปได้อีกมากโข

ที่มา :  http://www.natethip.com/news.php?id=3476

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.