เงินเฟ้อปี 2560 เพิ่มขึ้น 0.66% ส่วนปี 2561 กระทรวงพาณิชย์คาดอยู่ในกรอบ 0.6-1.6% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และได้รับแรงหนุนจากรายได้ภาคเกษตรดีขึ้น

1514

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.2560 เท่ากับ 101.37 ลดลง 0.08% เมื่อเทียบเดือนพ.ย.2560 และเพิ่มขึ้น 0.78% เมื่อเทียบเดือนธ.ค.2559 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 6 ทำให้เงินเฟ้อรวมทั้งปี2560 เพิ่มขึ้น 0.66% เป็นไปตามเป้าหมายที่ประเมินไว้ว่าจะอยู่ในกรอบ 0.4-1.0%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2560 เพิ่มขึ้น 0.66% มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.04% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตัวหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งปีเพิ่มถึง 9.55% รองลงมาเป็นยาสูบและเครื่องมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.73% จากการเพิ่มขึ้นของภาษีสรรพสามิต หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.56% การตรวจรักษา เพิ่ม 0.29% เคหสถาน เพิ่ม 0.08% ส่วนการสื่อสาร ลด 0.03% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.01%

ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.02% โดยผักสด ลด 5.55% ผลไม้ ลด 2.19% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 1.98% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.15% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลด 0.11% แต่เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.23% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.88% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.13% นอกบ้าน เพิ่ม 1.17%

“เงินเฟ้อปี 2560 เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสะท้อนว่ากำลังซื้อกำลังดีขึ้น แต่ยังไม่ดีมาก เพราะกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะราคาสินค้าภาคเกษตรยังลดลง ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลช่วยเหลือต่อไป ส่วนกลุ่มไม่ใช่อาหาร สินค้าส่วนใหญ่ราคาทรงตัว ที่เพิ่มขึ้นก็มาจากน้ำมันเป็นหลัก และยังมีบุหรี่ เหล้า ที่เพิ่มจากการขึ้นภาษี” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 คาดว่ายังคงทรงตัว แต่ละเดือนไม่น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1% โดยจะมีช่วงตรุษจีนที่ราคาอาจจะขยับขึ้นบ้างตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนทั้งปี 2561 ประเมินว่าจะอยู่ในกรอบ 0.6-1.6% ซึ่งมีสมมติฐานจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 3.5-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

www.mitihoon.com