CIMBTมุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ Weekly Investment View June 28 – July 2, 2021

66
มิติหุ้น – ตลาดหุ้นไทยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แตะระดับมากกว่า 3,000 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังได้มีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ เช่น ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในทุกเขตของพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 30 วันและยังงดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน อีกทั้งยังสั่งห้ามรับประทาน-เครื่องดื่มในร้านอาหารโดยให้รับกลับบ้านเท่านั้น ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ายังคงเปิดถึงเวลา 21.00 น. รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน ยกเว้นจะได้รับอนุญาตซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อีกทั้งการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมายังได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% และยังได้มีการปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลง สู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 3.0% ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลดลงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ปิดที่ระดับ 1,582.67 ดังนั้นภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งยังคงไม่มีปัจจัยหนุนที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอาจชะลอการลงทุนและต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ตลาดหุ้นต่างประเทศ
 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งหลังนักลงทุนคลายความกังวลถึงประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED กล่าวว่าจะยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพียงเพราะปัจจัยเงินเฟ้อแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากเงินเฟ้อประกอบด้วย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวมีวงเงินรวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ ซึ่งตลาดหุ้นก็ตอบรับปัจจัยดังกล่าวในเชิงบวก ขณะที่ทาง ECB ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป แต่มีปัจจัยกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุใหม่ที่เริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 
ตลาดตราสารหนี้

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้นประมาณ 4 bps สู่ระดับ 1.528 % โดย ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีการดีดตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์หลังการเผยตัวเลขดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 3.4% ส่งผลให้กดดันราคาของพันธบัตรรัฐบาลในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ทางด้านดัชนี 10 Year Breakeven Inflation ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงถึงมุมมองของนักลงทุนต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในอนาคต ยังคงเป็นเทรนด์ที่ปรับตัวลง ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่น้อยลง หลังการประชุม FED ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
 
 
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก
 
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1.865.9 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวลดลง 6.04 % เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น และจากการที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มิ.ย. ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากแรงเทขายทำกำไรหลังจากปรับตัวบวกมาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและมองว่าน่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 72.29 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ภายในสิ้นปีหน้า โดยคาดว่าอุปสงค์จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100.6 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ทาง Goldman Sachs ได้เปิดเผยว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง สะท้อนจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 96.5 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่า จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 99 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. นี้ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน โดยมีเป้าหมายราคาที่ระดับ 74 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมายังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ก็ตาม บ่งบอกว่านักลงทุนไม่ได้กังวงเรื่องเงินเฟ้อเท่าช่วงก่อนและมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นน่าจะเป็นภาวะชั่วคราวจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั่วโลกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะ TH จากการแจกจ่ายวัคซีนในสัปดาห์แรกมีทิศทางออกมาดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

 
การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งดัชนี S&P500 และ NASDAQ ปรับตัวสูงสุดทำสถิติใหม่ และอุตสาหกรรมที่นำมาในสัปดาห์นี้เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงาน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ขานรับปัจจัยบวกจากการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์ COVID-19 ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุม พร้อมทั้งระบุว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นสูงกว่าที่คาด แต่ไม่ใช่ปัจจัยผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 4 bps และปิดท้ายสัปดาห์ที่ร้อยละ 1.528 อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจกดดันตลาดได้แก่การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรในสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 4 ก.ค. จากหลายๆ ปัจจัย ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของไทย คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 0.50 และปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2021 และ 2022 ลงจากร้อยละ 3.0 และ 4.7 เป็น 1.8 และ 3.9 และยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดและนโยบายที่เข้มงวดขึ้นในบางพื้นที่
เรามองว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของการลดวงเงินและเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลลง ซึ่งตลาดน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติมากขึ้น ก่อนจะเริ่มทยอยเข้าสู่ฤดูกาลการประกาศผลประกอบการของไตรมาส 2 ปี 2564 ในช่วง ก.ค. เป็นต้นไป โดยแม้ภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจจะยังดีอยู่ แต่เริ่มอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับการประมาณการของนักวิเคราะห์ต่างๆ แต่เรายังเชื่อว่าวัฏจักรเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เสริมด้วยภาพรวมที่ดีขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป และหากฝั่งเอเชียสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในช่วงต่อไป ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นเรายังแนะนำเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนในตราสารทุน เน้นการกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยกองทุนหลัก 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) และกองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO) ในขณะที่กองทุนที่ลงทุนในประเทศจีนที่อาจจะ Underperform ประเทศอื่นๆ ในช่วงหลัง แต่เรายังคงแนะนำสะสมสำหรับการลงทุนในระยะยาวจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังดี ได้แก่กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ (KFACHINA-A) ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังคงความร้อนแรงต่อเนื่อง เราแนะนำการลงทุนในกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (Principal VNEQ-A) ซึ่งอาจจะต้องหาจังหวะที่มีการปรับตัวลดลงบ้างเพื่อลดต้นทุนในการสะสมกองทุน

สัปดาห์นี้ติดตามแนวโน้มการแพร่ระบาดทั่วโลกหลังสายพันธุ์ Delta Plus เริ่มแพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้เป็นตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI Manufacturing) เดือน มิ.ย. ของประเทศหลักๆ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ เยอรมนี และจีน ซึ่งมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงเมื่อเทียบกับ เดือน พ.ค. และติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ ที่จะสะท้อนภาวะตลาดแรงงาน และแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรป ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตามได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานาธิบดี จีน ในพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน (1 ก.ค.) รวมถึงผลการประชุม OPEC+ ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มของราคาน้ำมัน

www.mitihoon.com